เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 5.มหาสุตโสมชาดก (537)
[489] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน ผู้เป็นนรชน
ผู้แกล้วกล้า และประเสริฐสุด
น้ำฝนที่ตกลงในสระย่อมขังอยู่ได้นานฉันใด
แม้การสมาคมคบหาสัตบุรุษของหม่อมฉันก็ฉันนั้น
ย่อมตั้งอยู่ได้นานเหมือนน้ำในสระ
[490] การสมาคมสัตบุรุษย่อมไม่รู้จักเสื่อมคลายไป
ย่อมเป็นอยู่เหมือนอย่างนั้น แม้ตลอดเวลาที่ชีวิตยังคงอยู่
ส่วนการสมาคมคบหาอสัตบุรุษย่อมเสื่อมไปอย่างรวดเร็ว
เพราะฉะนั้น ธรรมของสัตบุรุษจึงห่างไกลกันกับอสัตบุรุษ
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์เมื่อจะแสดงธรรมเพื่อให้เนื้อความถึงที่สุด จึงตรัสว่า)
[491] พระราชาผู้ชนะคนที่ไม่ควรชนะ1 ไม่ชื่อว่าเป็นพระราชา
เพื่อนผู้ชนะเพื่อน ก็ไม่ชื่อว่าเป็นเพื่อน
ภรรยาผู้ไม่เกรงกลัวสามี ก็ไม่ชื่อว่าเป็นภรรยา
บุตรทั้งหลายผู้ไม่เลี้ยงดูมารดาและบิดาผู้แก่ชรา ก็ไม่ชื่อว่าเป็นบุตร
[492] ที่ประชุมที่ไม่มีสัตบุรุษ2 ก็ไม่ชื่อว่าสภา
เหล่าชนผู้ไม่พูดคำที่เป็นธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ
ชนทั้งหลายผู้ละราคะ โทสะ โมหะ
กล่าวคำที่เป็นธรรมเท่านั้น จึงชื่อว่า เป็นสัตบุรุษ
[493] บัณฑิตผู้อยู่ปะปนกับคนพาล
เมื่อไม่พูด ใคร ๆ ก็ไม่รู้ว่าเป็นบัณฑิต
แต่บัณฑิตเมื่อพูด เมื่อแสดงอมตบท จึงรู้ว่าเป็นบัณฑิต

เชิงอรรถ :
1 คนที่ไม่ควรชนะ หมายถึงมารดาบิดา เมื่อชนะมารดาบิดาไม่ชื่อว่าเป็นพระราชา หากว่าท่านได้ราช
สมบัติจากพระราชบิดาแล้ว กลับเป็นปฐมกษัตริย์ต่อท่าน ชื่อว่าทำกิจไม่สมควร (ขุ.ชา.อ. 8/491/449)
2 สัตบุรุษหมายถึงบัณฑิต สัตบุรุษทั้งหลายละกิเลสมีราคะเป็นต้นแล้ว เป็นผู้อนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยประโยชน์
พูดแต่ความจริง (ขุ.ชา.อ. 8/492/450)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :181 }