เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [18.ปัญญาสนิบาต] 2.อุมมาทันตีชาดก (527)
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[89] ข้าแต่พระภูมิบาล ข้าพระองค์จักอดกลั้นคำกล่าวโทษ
คำนินทา คำสรรเสริญ และคำติเตียนนั้นทุกอย่าง
ขอคำนั้นทั้งหมดจงมาตกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ขอพระองค์ทรงบริโภคกามตามความสำราญเถิด
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[90] ผู้ใดไม่ยึดถือคำนินทา ไม่ยึดถือคำสรรเสริญ
ไม่ยึดถือคำติเตียน ทั้งไม่ยึดถือการบูชา
สิริและปัญญาย่อมปราศจากผู้นั้น
เหมือนน้ำฝนที่ตกจนโชกย่อมไหลไปจากที่ดอน
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[91] ความทุกข์ ความสุข อกุศลที่เป็นไปล่วงธรรม
และความคับแค้นใจจากการเสียสละนี้ทั้งหมด
ข้าพระองค์จักรับไว้ด้วยอกประดุจพื้นปฐพีรับไว้ได้ทุกอย่าง
ทั้งของบุคคลผู้มั่นคงและผู้หวาดสะดุ้ง
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[92] เราไม่ปรารถนาอกุศลที่เป็นไปล่วงธรรม
ความคับแค้นใจ และความทุกข์ของบุคคลเหล่าอื่น
เราผู้ดำรงอยู่ในธรรมจะไม่ทำประโยชน์อะไร ๆ ให้เสื่อมเสียไป
เราจักนำภาระนี้ไปเพียงผู้เดียวเท่านั้น
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[93] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน บุญกรรมอันนำให้ถึง
โลกสวรรค์ของข้าพระองค์ ขอพระองค์อย่าทรงทำอันตรายเลย
ข้าพระองค์มีใจเลื่อมใส จะถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์
เหมือนกับพระราชาพระราชทานทรัพย์
แก่พวกพราหมณ์ในการบูชายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :18 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [18.ปัญญาสนิบาต] 2.อุมมาทันตีชาดก (527)
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[94] ท่านผู้บำเพ็ญประโยชน์ ท่านหวังประโยชน์แก่เราแน่แท้
ทั้งนางอุมมาทันตีและท่านก็เป็นเพื่อนของเรา
เทวดา บิดา1 และประชาชนทั้งปวงจะพึงนินทาได้
อนึ่ง เราก็ได้เห็นบาปในสัมปรายภพ
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[95] ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ชาวชนบทพร้อมทั้งชาวนิคมทั้งปวง
จะพึงกล่าวข้อนั้นว่าไม่เป็นธรรมหาได้ไม่
ข้าพระองค์ถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์
เพราะนางอุมมาทันตี ข้าพระองค์ถวายพระองค์แล้ว
ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์โปรดทรงอภิรมย์ตัณหาดุจต้นไม้ในป่า
หรือไม่ก็ทรงสลัดนางทิ้งเสีย
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[96] นี่แน่ะท่านผู้บำเพ็ญประโยชน์ ท่านหวังประโยชน์แก่เราแน่แท้
นางอุมมาทันตีและท่านก็เป็นเพื่อนของเรา
ก็ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายที่ประกาศไว้ดีแล้ว
ยากที่จะก้าวล่วงได้ เหมือนฝั่งสมุทร
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[97] พระองค์ทรงเป็นอาหุเนยยบุคคล2
ทรงอนุเคราะห์สิ่งที่เป็นประโยชน์ ทรงเป็นผู้ปกป้อง
คุ้มครอง และทรงรักษาความประสงค์ของข้าพระองค์
ข้าแต่พระราชา ก็ยัญที่บูชาแล้วในพระองค์มีผลมาก
ขอพระองค์ทรงรับนางอุมมาทันตี
ตามความประสงค์ของข้าพระองค์เถิด

เชิงอรรถ :
1 บิดา ในที่นี้หมายถึงพรหม (ขุ.ชา.อ. 8/94/47)
2 อาหุเนยยบุคคล หมายถึงบุคคลผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาคำนับ (ขุ.ชา.อ. 8/97/47)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :19 }