เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 5.มหาสุตโสมชาดก (537)
[473] สหาย พระองค์เป็นทั้งครูและสหายของหม่อมฉัน
หม่อมฉันได้ทำตามพระดำรัสของพระองค์แล้ว
แม้พระองค์ก็ขอได้โปรดทำตามคำของหม่อมฉัน
เราแม้ทั้ง 2 จะได้ไปปลดปล่อย(เหล่ากษัตริย์)ด้วยกัน
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับโจรโปริสาทนั้นว่า)
[474] สหาย หม่อมฉันเป็นทั้งครูและสหายของพระองค์
พระองค์ได้ทำตามคำของหม่อมฉันแล้ว
แม้หม่อมฉันก็จะทำตามพระดำรัสของพระองค์
เราแม้ทั้ง 2 ก็จะได้พากันไปปลดปล่อย(เหล่ากษัตริย์)ด้วยกัน
(ครั้นตรัสอย่างนั้นแล้ว พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์เสด็จเข้าไปหากษัตริย์เหล่านั้น
แล้ว จึงตรัสว่า)
[475] พระองค์ทั้งหลายอย่าได้ประทุษร้าย
ต่อพระราชานี้ด้วยความเคียดแค้นว่า
“เราทั้งหลายถูกพระเจ้ากัมมาสบาทเบียดเบียน
ถูกร้อยฝ่ามือ ร้องไห้ มีหน้านองไปด้วยน้ำตา
ขอพระองค์ทั้งหลายจงทรงรับสัตย์ปฏิญาณของหม่อมฉัน”
(กษัตริย์เหล่านั้นตรัสตอบว่า)
[476] พวกหม่อมฉันจะไม่ประทุษร้าย
ต่อพระราชาพระองค์นี้ด้วยความเคียดแค้นว่า
“เราทั้งหลายถูกพระเจ้ากัมมาสบาทเบียดเบียน
ถูกร้อยฝ่ามือ ร้องไห้ มีหน้านองไปด้วยน้ำตา
หม่อมฉันทั้งหลายขอรับสัจจปฏิญญาของพระองค์”
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับกษัตริย์เหล่านั้นว่า)
[477] บิดาหรือมารดาเป็นผู้อนุเคราะห์
ปรารถนาประโยชน์แก่ประชาฉันใด
ขอพระราชานี้จงเป็นเสมือนพระบิดาและพระมารดา
ของท่านทั้งหลาย
และขอท่านทั้งหลายจงเป็นเสมือนบุตรฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :178 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 5.มหาสุตโสมชาดก (537)
(กษัตริย์เหล่านั้นเมื่อรับปฎิญาณ จึงกราบทูลว่า)
[478] บิดาหรือมารดาเป็นผู้อนุเคราะห์
ปรารถนาประโยชน์แก่ประชาทั้งหลายฉันใด
แม้พระราชานี้ก็จงเป็นเหมือนพระบิดา
และพระมารดาของหม่อมฉันทั้งหลาย
แม้หม่อมฉันทั้งหลายก็จะเป็นเหมือนโอรสฉันนั้น
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ทรงพรรณนาถึงสมบัติของพระนคร จึงตรัสปลอบโจร
โปริสาทว่า)
[479] พระองค์เคยเสวยกระยาหารเนื้อสัตว์ 4 เท้า
และนกที่พวกพ่อครัวจัดปรุงให้สำเร็จอย่างดี
เหมือนพระอินทร์ทรงเสวยสุธาโภชน์
ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าแต่ลำพังเล่า
[480] นางกษัตริย์เหล่านั้นล้วนแต่เอวบางร่างน้อยสะโอดสะอง
ประดับแวดล้อมบำรุงพระองค์ให้บันเทิงพระทัย
เหมือนนางเทพอัปสรแวดล้อมพระอินทร์ในเทวโลกฉะนั้น
ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าตามลำพังเล่า
[481] พระแท่นบรรทมมีพนักแดง โดยมากปูลาดด้วยผ้าโกเชาว์
ล้วนแต่ปูลาดด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งปวงอันงดงาม
พระองค์เคยทรงบรรทมสุขสำราญ
ประทับบนท่ามกลางพระแท่นบรรทมเช่นนั้น
ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าแต่ลำพังเล่า
[482] ในเวลาพลบค่ำ มีทั้งเสียงปรบมือ
เสียงตะโพน และเสียงดนตรี
รับประสานเสียงล้วนแต่สตรีไม่มีบุรุษเจือปน
การขับและการประโคมก็ล้วนไพเราะ
ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าแต่ลำพังเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :179 }