เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 5.มหาสุตโสมชาดก (537)
(โจรโปริสาทมีน้ำตานองหน้า กราบทูลว่า)
[462] เนื้อมนุษย์เป็นที่พอใจของหม่อมฉัน พระเจ้าสุตโสม
โปรดทรงทราบอย่างนี้ หม่อมฉันไม่อาจจะงดเว้น
เชิญพระองค์เลือกพรอย่างอื่นเถิด พระสหาย
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[463] ผู้ใดมัวรักษาของซึ่งเป็นที่พอใจว่า
นี้เป็นที่พอใจของเรา มาทอดทิ้งตนเสีย
ย่อมประสบแต่ของซึ่งเป็นที่รักทั้งหลาย
เหมือนนักเลงสุราดื่มสุราที่เจือยาพิษ
เพราะเหตุนั้นเอง เขาจึงได้รับทุกข์ในโลกหน้า
[464] อนึ่ง ผู้ใดในโลกนี้ได้พิจารณาแล้ว
ละสิ่งซึ่งเป็นที่พอใจเสียได้ ย่อมเสพอริยธรรมได้แสนยาก
เหมือนคนไข้ผู้ประสบทุกข์ดื่มยา
เพราะเหตุนั้นแหละ ผู้นั้นจึงเป็นผู้ได้รับความสุขในโลกหน้า
(โจรโปริสาทกล่าวคร่ำครวญว่า)
[465] หม่อมฉันละทิ้งพระบิดาและพระมารดา
ทั้งเบญจกามคุณอันเป็นที่ชอบใจ
หนีเข้าป่าก็เพราะเหตุแห่งภักษาหารนี้
พรข้อนั้นหม่อมฉันจะถวายแก่พระองค์ได้อย่างไร
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[466] บัณฑิตทั้งหลายไม่กล่าววาจาเป็น 2 ส่วน
สัตบุรุษทั้งหลายย่อมมีปฏิญญาเป็นคำสัตย์โดยแท้
พระองค์ได้ตรัสกับหม่อมฉันว่า เชิญขอพรเถิดนะ พระสหาย
พระองค์ได้ตรัสไว้อย่างนี้
เพราะฉะนั้น พระดำรัสที่พระองค์ตรัสจึงไม่สมกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :176 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 5.มหาสุตโสมชาดก (537)
(โจรโปริสาทร้องไห้อีก กราบทูลว่า)
[467] หม่อนฉันเข้าถึงการไม่ได้บุญ
ความเสื่อมยศเสื่อมเกียรติ บาป ทุจริต
ความเศร้าหมองเป็นอันมาก เพราะเนื้อมนุษย์เป็นเหตุ
หม่อมฉันจะพึงถวายพรนั้นแก่พระองค์ได้อย่างไร
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับโจรโปริสาทนั้นอีกว่า)
[468] คำว่า คนเราให้พรใดแล้วกลับคำ เขาไม่สมควรให้พรนั้น
สหาย ขอพระองค์จงขอพรเถิด อย่าหวั่นวิตกไปเลย
แม้แต่ชีวิตหม่อมฉันก็สละถวายพระองค์ได้
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสสนับสนุนโจรโปริสาทนั้นให้อาจหาญในการให้พรว่า)
[469] สัตบุรุษทั้งหลายยอมสละชีวิต แต่ไม่สละธรรม
สัตบุรุษมีปฏิญญาเป็นสัตย์อย่างเดียว
พรที่พระองค์ได้ประทานแล้ว ขอได้โปรดรีบประทานเสียเถิด
พระราชาผู้ประเสริฐสุด ขอพระองค์จงสมบูรณ์ด้วยธรรมนี้เถิด
[470] นรชนพึงสละทรัพย์เพราะเหตุแห่งอวัยวะที่สำคัญ
เมื่อจะรักษาชีวิต ก็พึงสละอวัยวะ
เมื่อระลึกถึงธรรม พึงสละทั้งอวัยวะ
ทรัพย์ และแม้แต่ชีวิตทั้งหมด
[471] บุรุษรู้ธรรมจากผู้ใด
และเหล่าสัตบุรุษย่อมขจัดความสงสัยของบุรุษนั้นได้
ข้อนั้นเป็นที่พึ่งและเป็นจุดมุ่งหมายของบุรุษนั้น
ด้วยเหตุนั้น บุคคลผู้มีปัญญาไม่พึงทำลายไมตรี
(โจรโปริสาทเมื่อจะให้พร จึงกราบทูลว่า)
[472] มนุษย์นั้นเป็นภักษาหารที่ชอบใจของหม่อมฉันมาตั้งนาน
หม่อมฉันหนีเข้าป่าก็เพราะเหตุแห่งภักษาหารนี้
สหาย ก็ถ้าพระองค์จะตรัสขอเรื่องนี้กับหม่อมฉัน
หม่อมฉันขอถวายพรนี้แด่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :177 }