เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 5.มหาสุตโสมชาดก (537)
(โจรโปริสาทเมื่อจะให้พร จึงกราบทูลว่า)
[458] กษัตริย์เกินกว่า 100 พระองค์ที่หม่อมฉันจับร้อยฝ่าพระหัตถ์ไว้
ทรงกันแสง มีพระพักตร์ชุ่มด้วยพระอัสสุชล
หม่อมฉันจะปล่อยกษัตริย์เหล่านั้นให้กลับไปในแคว้นของตน ๆ
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ 3 ที่หม่อมฉันขอถวาย
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[459] แคว้นของพระองค์เป็นช่อง1
เพราะชนเป็นอันมากหวาดหวั่นเพราะกลัว
จึงพากันหนีเข้าหาที่หลบซ่อน
ขอพระองค์โปรดทรงงดเว้นเนื้อมนุษย์เถิด พระเจ้าข้า
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ 4 ที่หม่อมฉันทูลขอ
(โจรโปริสาทกราบทูลว่า)
[460] มนุษย์นั้นเป็นภักษาหารที่ชอบใจของหม่อมฉันมาตั้งนาน
หม่อมฉันหนีเข้าป่าก็เพราะเหตุแห่งภักษาหารนี้
หม่อมฉันนั้นจะพึงงดอาหารนั้นได้อย่างไร
ขอพระองค์จงขอพรข้อที่ 4 อย่างอื่นเถิด
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[461] พระองค์ผู้จอมชน คนเช่นกับพระองค์มัวพะวงอยู่ว่า
นี้เป็นที่พอใจของเรา มาทอดทิ้งตนเสีย
ย่อมไม่ประสบสิ่งซึ่งเป็นที่พอใจทั้งหลาย
ตนนั่นแหละประเสริฐกว่า ประเสริฐอย่างยอดเยี่ยมกว่า
เพราะบุคคลผู้อบรมตนแล้ว
พึงได้สิ่งซึ่งเป็นที่พอใจทั้งหลายในภายหลัง

เชิงอรรถ :
1 แคว้นของพระองค์เป็นช่อง หมายถึงไม่มีที่อยู่หนาแน่น คือ เกิดมีช่องว่าง เพราะเกิดหมู่บ้านขึ้นเฉพาะที่
(ขุ.ชา.อ. 8/459/434)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :175 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 5.มหาสุตโสมชาดก (537)
(โจรโปริสาทมีน้ำตานองหน้า กราบทูลว่า)
[462] เนื้อมนุษย์เป็นที่พอใจของหม่อมฉัน พระเจ้าสุตโสม
โปรดทรงทราบอย่างนี้ หม่อมฉันไม่อาจจะงดเว้น
เชิญพระองค์เลือกพรอย่างอื่นเถิด พระสหาย
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[463] ผู้ใดมัวรักษาของซึ่งเป็นที่พอใจว่า
นี้เป็นที่พอใจของเรา มาทอดทิ้งตนเสีย
ย่อมประสบแต่ของซึ่งเป็นที่รักทั้งหลาย
เหมือนนักเลงสุราดื่มสุราที่เจือยาพิษ
เพราะเหตุนั้นเอง เขาจึงได้รับทุกข์ในโลกหน้า
[464] อนึ่ง ผู้ใดในโลกนี้ได้พิจารณาแล้ว
ละสิ่งซึ่งเป็นที่พอใจเสียได้ ย่อมเสพอริยธรรมได้แสนยาก
เหมือนคนไข้ผู้ประสบทุกข์ดื่มยา
เพราะเหตุนั้นแหละ ผู้นั้นจึงเป็นผู้ได้รับความสุขในโลกหน้า
(โจรโปริสาทกล่าวคร่ำครวญว่า)
[465] หม่อมฉันละทิ้งพระบิดาและพระมารดา
ทั้งเบญจกามคุณอันเป็นที่ชอบใจ
หนีเข้าป่าก็เพราะเหตุแห่งภักษาหารนี้
พรข้อนั้นหม่อมฉันจะถวายแก่พระองค์ได้อย่างไร
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[466] บัณฑิตทั้งหลายไม่กล่าววาจาเป็น 2 ส่วน
สัตบุรุษทั้งหลายย่อมมีปฏิญญาเป็นคำสัตย์โดยแท้
พระองค์ได้ตรัสกับหม่อมฉันว่า เชิญขอพรเถิดนะ พระสหาย
พระองค์ได้ตรัสไว้อย่างนี้
เพราะฉะนั้น พระดำรัสที่พระองค์ตรัสจึงไม่สมกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :176 }