เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 5.มหาสุตโสมชาดก (537)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[423] พระเจ้าสุตโสมนั้นถวายบังคมพระบิดา
และพระมารดาแล้ว
ทรงพร่ำสอนชาวนิคมและพลนิกาย
เป็นผู้ตรัสความสัตย์ และทรงรักษาคำสัตย์
ได้เสด็จไปยังที่เป็นที่อยู่ของโปริสาทแล้ว
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับโจรโปริสาทว่า)
[424] หม่อมฉันผู้ดำรงอยู่ในความเป็นใหญ่ในแคว้นของตน
ได้ทำการนัดหมายไว้กับพราหมณ์
เพื่อเปลื้องการนัดหมายนั้นกับพราหมณ์
จึงเป็นผู้รักษาความสัตย์หวนกลับมาอีก
ท่านโปริสาท ขอเชิญท่านบูชายัญกินเราเสียเถิด
(โจรโปริสาทได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[425] การเคี้ยวกินท่านในภายหลัง
ไม่เสียหายสำหรับข้าพเจ้า
แท้จริงกองไฟนี้ก็ยังมีควัน
เนื้อที่ย่างในกองไฟอันไม่มีควันจะสุกดี
หม่อมฉันจะขอฟังคาถาซึ่งมีค่าตั้ง 100
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงตรัสว่า)
[426] ท่านโปริสาท ท่านประพฤติไม่ชอบธรรม
ต้องพลัดพรากจากแคว้น เพราะเหตุแห่ง(ปาก)ท้อง
ส่วนคาถาเหล่านี้ย่อมกล่าวสรรเสริญธรรม
ธรรมและอธรรมจะลงกันได้ที่ไหน1

เชิงอรรถ :
1 ธรรมและอธรรมจะลงกันได้ที่ไหน หมายถึงรวมกันไม่ได้ เพราะว่าธรรมย่อมให้ถึงสุคติคือนิพพาน
ส่วนอธรรมให้ถึงทุคติ (ขุ.ชา.อ. 8/426/421)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :168 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 5.มหาสุตโสมชาดก (537)
[427] คนผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม หยาบช้า
มีฝ่ามือเปื้อนเลือดเป็นนิตย์ ย่อมไม่มีสัจจะ
ธรรมจะมีได้แต่ที่ไหน
ท่านจักทรงทำประโยชน์อะไรด้วยการสดับ1
(โจรโปริสาทได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[428] ผู้ใดเที่ยวล่าเนื้อ (ล่าสัตว์) เพราะเหตุแห่งเนื้อ
หรือฆ่าคนเพราะเหตุแห่งตน
คนทั้ง 2 นั้นละโลกนี้ไปแล้วก็เสมอกัน (พอกัน)
เพราะเหตุไรหนอ พระองค์จึงทรงกล่าวหาหม่อมฉันว่า
เป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์เมื่อจะแก้ลัทธิของโจรโปริสาท จึงตรัสว่า)
[429] พระมหากษัตริย์ผู้ทรงทราบธรรมเนียมกษัตริย์
ไม่ควรเสวยเนื้อสัตว์ 10 ชนิดมีเนื้อช้างเป็นต้น
ข้าแต่พระราชา พระองค์เสวยเนื้อมนุษย์ที่ไม่ควรเสวย
เพราะฉะนั้น พระองค์จึงเป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม
(โจรโปริสาทเมื่อจะให้พระโพธิสัตว์รับบาปบ้าง จึงกราบทูลว่า)
[430] พระองค์ทรงพ้นจากเงื้อมมือของโจรโปริสาทแล้ว
เสด็จไปถึงพระราชมณเฑียรของพระองค์
ทรงเพลิดเพลินอยู่ในกาม
เสด็จหวนกลับมาสู่เงื้อมมือของหม่อมฉันผู้เป็นศัตรูอีก
พระองค์ช่างเป็นผู้ไม่ฉลาด
ในธรรมของกษัตริย์2เลยนะ พระเจ้าข้า

เชิงอรรถ :
1 ประโยชน์อะไรด้วยการสดับ หมายความว่า ท่านจักทำอะไรกับการฟังนี้ เพราะท่านไม่ใช่ภาชนะรอง
รับธรรม เหมือนภาชนะที่ไม่ใช่ภาชนะรองรับเปลวมันราชสีห์ (ขุ.ชา.อ. 8/427/421)
2 ธรรมของกษัตริย์ หมายถึงหลักนิติศาสตร์ ในที่นี้ โจรโปริสาทกล่าวว่า พระเจ้าสุตโสมไม่ฉลาดใน
นิติศาสตร์กล่าวคือธรรมของกษัตริย์ คือไม่รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ของตน (เพราะเห็น
พระราชากลับมาสู่สำนักของตนอีก) (ขุ.ชา.อ. 8/430/423)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :169 }