เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 5.มหาสุตโสมชาดก (537)
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ยืนถวายพระพรอยู่ข้างทาง
จึงตรัสถามว่า)
[396] ชาติภูมิของท่านอยู่ในแคว้นไหนหนอ
ท่านมาถึงนครนี้ได้ด้วยประโยชน์อะไร
ท่านพราหมณ์ ขอท่านจงบอกประโยชน์นี้แก่ข้าพเจ้า
ท่านต้องการอะไร ข้าพเจ้าจะให้ตามที่ท่านต้องการ ณ วันนี้
(พราหมณ์ได้กราบทูลพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์นั้นว่า)
[397] พระภูมิบาล คาถาทั้ง 4 มีอรรถที่ลึก
เปรียบด้วยสาครอันประเสริฐ
หม่อมฉันมานครนี้เพื่อประโยชน์แก่พระองค์เท่านั้น
ขอพระองค์โปรดสดับคาถา
ที่ประกอบด้วยประโยชน์อย่างยิ่งเถิด
(โจรโปริสาทจับพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ได้แล้ว จึงทูลถามว่า)
[398] ชนเหล่าใดมีความรู้ มีปัญญา เป็นพหูสูต
คิดเหตุการณ์ได้มาก ชนเหล่านั้นย่อมไม่ร้องไห้
การที่เหล่าบัณฑิตเป็นผู้บรรเทาความโศกได้
นี่แหละเป็นที่พึ่งอันยอดเยี่ยมของเหล่านรชน
[399] ท่านสุตโสม พระองค์ทรงเศร้าโศกเพราะเหตุไร
เพราะเหตุแห่งพระองค์เอง พระญาติ พระโอรส
พระมเหสี ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน หรือว่าทองหรือ
ท่านโกรัพยะผู้ประเสริฐ หม่อมฉันขอฟังพระดำรัสของพระองค์
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[400] หม่อมฉันมิได้ทอดถอน มิได้เศร้าโศกเพื่อประโยชน์แก่ตน
แก่โอรส มเหสี ทรัพย์ และแคว้น
แต่ธรรมของเหล่าสัตบุรุษที่เคยประพฤติมาเก่าก่อน
หม่อมฉันนัดหมายไว้กับพราหมณ์
หม่อมฉันทอดถอนเศร้าโศกถึงการนัดหมายนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :163 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 5.มหาสุตโสมชาดก (537)
[401] หม่อมฉันดำรงอยู่ในความเป็นใหญ่ในแคว้นของตนเอง
ได้ทำการนัดหมายไว้กับพราหมณ์
เพื่อจะเปลื้องการนัดหมายนั้นกับพราหมณ์
ก็จักเป็นผู้รักษาความสัตย์หวนกลับมาอีก
(โจรโปริสาทกราบทูลพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ว่า)
[402] นรชนผู้มีความสุข หลุดพ้นไปจากปากของมฤตยูแล้ว
จะพึงกลับมาสู่เงื้อมมือของศัตรูอีก
ข้อนี้หม่อมฉันยังไม่เชื่อ ท่านโกรัพยะผู้ประเสริฐที่สุด
พระองค์ไม่เสด็จเข้าไปหาหม่อมฉันเลย
[403] พระองค์ทรงหลุดพ้นจากเงื้อมมือของโจรโปริสาทแล้ว
เสด็จไปถึงพระราชมณเฑียรของพระองค์
จะมัวทรงเพลิดเพลินในกามคุณ ข้าแต่พระราชา
พระองค์ทรงได้พระชนม์ชีพอันเป็นที่รักแสนหวานแล้ว
ไฉนจักเสด็จกลับมายังสำนักของหม่อมฉันเล่า
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ได้สดับดังนั้น ไม่ทรงหวาดระแวง จึงตรัสว่า)
[404] คนผู้มีศีลบริสุทธิ์พึงปรารถนาความตาย
ผู้มีธรรมลามกที่นักปราชญ์ติเตียนก็ไม่ปรารถนาชีวิต
นรชนใดพึงกล่าวเท็จเพราะเพื่อประโยชน์ของตนใดเป็นเหตุ
เหตุเพื่อประโยชน์ของตนนั้น
ย่อมป้องกันนรชนนั้นจากทุคติไม่ได้
[405] แม้ถ้าลมจะพึงพัดพาภูเขามาได้
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็จะพึงตกลงบนแผ่นดินได้
และแม่น้ำทุกสายก็จะพึงไหลทวนกระแส
ถ้าเป็นไปได้อย่างนั้น
หม่อมฉันก็จะไม่พึงพูดเท็จเลย พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :164 }