เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 5.มหาสุตโสมชาดก (537)
[390] ท่านกาฬะ เราก็เหมือนกัน
บริโภคอาหารที่มีรสอร่อยที่สุดแล้ว
ถ้าไม่ได้เนื้อมนุษย์ เข้าใจว่า คงเสียชีวิตแน่
(กาฬเสนาบดีครั้นได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[391] เปรียบเสมือนพวกหงส์ชื่อธตรัฏฐะ เหิรบินไปในท้องฟ้า
ถึงความตายไปจนหมดเพราะกินอาหารที่ไม่ควรกิน ฉันใด
[392] ข้าแต่พระราชาผู้เป็นจอมแห่งหมู่มนุษย์
พระองค์ก็อย่างนั้นเหมือนกัน โปรดสดับคำของข้าพระองค์
พระองค์เสวยเนื้อที่ไม่ควร
ฉะนั้น พสกนิกรทั้งหลายจึงพากันเนรเทศพระองค์
(โจรโปริสาท1กล่าวกับรุกขเทวดานั้นว่า)
[393] เราได้ห้ามท่านแล้วว่า จงหยุด ท่านนั้นก็ยังเดินดุ่ม ๆ ไป
ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ท่านไม่ได้หยุด
แต่บอกว่าหยุด ท่านสมณะ นี้ควรแก่ท่านแล้วหรือ
ท่านสำคัญดาบของเราว่าเป็นขนปีกนกตะกรุมหรือ
(ลำดับนั้น เทวดากล่าวว่า)
[394] มหาบพิตร อาตมภาพหยุดแล้วในธรรมของตน
ไม่ได้เปลี่ยนชื่อและโคตร
ส่วนโจรบัณฑิตกล่าวว่า ไม่หยุดในโลก
จุติจากโลกนี้แล้วจะต้องไปเกิดในอบายหรือนรก
มหาบพิตร ถ้าทรงเชื่ออาตมภาพ
ขอมหาบพิตรจงจับพระเจ้าสุตโสมผู้เป็นกษัตริย์เถิด
มหาบพิตรทรงจับพระเจ้าสุตโสมนั้นบูชายัญแล้ว
จักเสด็จไปสวรรค์ได้อย่างนี้

เชิงอรรถ :
1 โปริสาท แปลว่า มีคนเป็นอาหาร, คนกินคน เป็นชื่อของพระเจ้าพรหมทัต หลังจากถูกชาวเมืองเนรเทศแล้ว
ได้ไปอาศัยโคนต้นไทรอยู่ แล้วเที่ยวปล้นคนเดินทาง เพื่อฆ่าเอาเนื้อมาปรุงอาหาร จึงปรากฏชื่อเสียงว่า
โปริสาท (ขุ.ชา.อ. 8/392/397)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :162 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 5.มหาสุตโสมชาดก (537)
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ยืนถวายพระพรอยู่ข้างทาง
จึงตรัสถามว่า)
[396] ชาติภูมิของท่านอยู่ในแคว้นไหนหนอ
ท่านมาถึงนครนี้ได้ด้วยประโยชน์อะไร
ท่านพราหมณ์ ขอท่านจงบอกประโยชน์นี้แก่ข้าพเจ้า
ท่านต้องการอะไร ข้าพเจ้าจะให้ตามที่ท่านต้องการ ณ วันนี้
(พราหมณ์ได้กราบทูลพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์นั้นว่า)
[397] พระภูมิบาล คาถาทั้ง 4 มีอรรถที่ลึก
เปรียบด้วยสาครอันประเสริฐ
หม่อมฉันมานครนี้เพื่อประโยชน์แก่พระองค์เท่านั้น
ขอพระองค์โปรดสดับคาถา
ที่ประกอบด้วยประโยชน์อย่างยิ่งเถิด
(โจรโปริสาทจับพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ได้แล้ว จึงทูลถามว่า)
[398] ชนเหล่าใดมีความรู้ มีปัญญา เป็นพหูสูต
คิดเหตุการณ์ได้มาก ชนเหล่านั้นย่อมไม่ร้องไห้
การที่เหล่าบัณฑิตเป็นผู้บรรเทาความโศกได้
นี่แหละเป็นที่พึ่งอันยอดเยี่ยมของเหล่านรชน
[399] ท่านสุตโสม พระองค์ทรงเศร้าโศกเพราะเหตุไร
เพราะเหตุแห่งพระองค์เอง พระญาติ พระโอรส
พระมเหสี ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน หรือว่าทองหรือ
ท่านโกรัพยะผู้ประเสริฐ หม่อมฉันขอฟังพระดำรัสของพระองค์
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[400] หม่อมฉันมิได้ทอดถอน มิได้เศร้าโศกเพื่อประโยชน์แก่ตน
แก่โอรส มเหสี ทรัพย์ และแคว้น
แต่ธรรมของเหล่าสัตบุรุษที่เคยประพฤติมาเก่าก่อน
หม่อมฉันนัดหมายไว้กับพราหมณ์
หม่อมฉันทอดถอนเศร้าโศกถึงการนัดหมายนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :163 }