เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 4.กุณาลชาดก (536)
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นารทเทวพราหมณ์รู้แจ้งชัดซึ่งคาถา
ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของอานนท์พญาแร้ง จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้
ในเวลานั้นว่า
[340] นี่แน่ะ พญานก ท่านจงฟังคำของข้าพเจ้า
ผู้จะกล่าวถึงสิ่ง 4 อย่าง ที่ไม่รู้จักเต็มเหล่านี้ คือ
1. ทะเล 2. พราหมณ์
3. พระราชา 4. หญิง
[341] แม่น้ำสายใดสายหนึ่งซึ่งอาศัยแผ่นดิน
ย่อมไหลไปสู่สาคร
แม่น้ำเหล่านั้นก็ทำสมุทรให้เต็มไม่ได้
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่องอยู่
[342] ส่วนพราหมณ์สาธยายพระเวท
มีประวัติศาสตร์เป็นที่ 5 ได้แล้ว
ก็ยังปรารถนาการศึกษาแม้ให้ยิ่งขึ้นไป
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่องอยู่
[343] ส่วนพระราชาเล่าทรงชนะแล้ว
ครอบครองแผ่นดินทั้งหมดพร้อมทั้งสมุทร
และภูเขาอันสั่งสมรัตนะไว้หาที่สุดมิได้
ก็ยังทรงปรารถนาสมุทรฝั่งโน้น
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่องอยู่
[344] แต่หญิงถึงแม้จะพึงมีสามีคนละ 8 คน
ซึ่งเป็นคนแกล้วกล้ามีพลัง
สามารถนำรสแห่งความใคร่ทั้งปวงมาให้ได้
เธอก็ยังคงทำความพอใจในชายคนที่ 9
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่องอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :153 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 4.กุณาลชาดก (536)
[345] หญิงทั้งปวงกินทุกอย่างเหมือนเปลวไฟ
พัดพาเอาทุกสิ่งทุกอย่างไปเหมือนแม่น้ำ
เกาะเกี่ยวเหมือนเรียวหนาม
ย่อมคบหาชายเพราะเหตุแห่งทรัพย์
[346] ก็นรชนใดปลงใจเชื่อหญิงทุกสิ่งทุกอย่าง
นรชนนั้นชื่อว่าดักลมด้วยตาข่าย
วิดน้ำทะเลด้วยฝ่ามือข้างเดียว
ปรบมือข้างเดียวของตนให้เกิดเสียง ก็รู้ได้ยาก
[347] ภาวะของหญิงที่เป็นนางโจร
รู้มาก หาความจริงได้ยาก
เป็นการลำบากที่จะหยั่งรู้เหมือนรอยทางปลาในน้ำ
[348] หญิงทั้งหลายเหล่านั้นไม่รู้จักพอ
พูดจาไพเราะอ่อนหวาน เต็มได้ยาก
เหมือนแม่น้ำย่อมทำให้ล่มจม
ชายรู้แจ้งชัดแล้วพึงเว้นเสียให้ห่างไกล
[349] หญิงทั้งหลายยั่วยวนให้ลุ่มหลง
มีมายามาก ทำพรหมจรรย์ให้กำเริบ
ย่อมทำให้ล่มจมเสียหาย
ชายรู้แจ้งชัดแล้วพึงเว้นเสียให้ห่างไกล
[350] ก็หญิงทั้งหลายเหล่านั้นเข้าไปคบหาชายใด
ด้วยความพอใจหรือด้วยทรัพย์ก็ตาม
ก็ติดตามเผาผลาญชายนั้นโดยทันที
เหมือนไฟป่าเผาผลาญสถานที่ของตน
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น พญานกกุณาละรู้แจ้งชัดซึ่งคาถาทั้ง
เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของนารทเทวพราหมณ์ จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ใน
เวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :154 }