เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [18.ปัญญาสนิบาต] 2.อุมมาทันตีชาดก (527)
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[77] ปราชญ์ทั้งหลายถึงจะถูกความทุกข์ของตนบีบคั้นแล้ว
ก็จะไม่สละกรรมที่มีผลเป็นสุข
หรือแม้ลุ่มหลงมัวเมาด้วยความสุข
ก็จะไม่ประพฤติกรรมชั่ว
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[78] ก็พระองค์ทรงเป็นทั้งมารดาและบิดา เป็นภัสดา เป็นนาย
เป็นผู้ชุบเลี้ยง และเป็นเทวดาของข้าพระองค์
ข้าพระองค์พร้อมทั้งบุตรและภรรยาเป็นทาสของพระองค์
ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ขอพระองค์ทรงบริโภคกาม
ตามความสำราญเถิด
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[79] ผู้ใดกระทำความชั่วด้วยสำคัญว่า เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่
ครั้นกระทำแล้ว ผู้นั้นก็ไม่หวั่นเกรงต่อชนเหล่าอื่น
เพราะกรรมนั้น เขาย่อมมีอายุอยู่ได้ไม่ยืนยาว
แม้เทพทั้งหลายก็มองเขาด้วยสายตาอันเหยียดหยาม
[80] ชนเหล่าใดผู้ดำรงอยู่ในธรรม
รับทานที่เป็นของชนเหล่าอื่น อันเจ้าของมอบให้แล้ว
ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นทั้งผู้รับ เป็นทั้งผู้ให้ในทานนั้นแม้ทั้งหมด
ย่อมทำกรรมอันมีผลเป็นสุขทีเดียว
[81] คนอื่น ใครเล่าหนอบนพื้นปฐพีในโลกนี้
จะพึงเชื่อท่านว่า นางมิได้เป็นที่รักของเรา
อีกประการหนึ่ง ครั้นให้แล้ว
ท่านมิได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้เป็นที่รัก
ท่านจะคับแค้นใจอย่างหนัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :15 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [18.ปัญญาสนิบาต] 2.อุมมาทันตีชาดก (527)
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[82] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน นางอุมมาทันตีนี้
เป็นที่รักของข้าพระองค์อย่างแท้จริง
ข้าแต่พระภูมิบาล นางมิได้เป็นที่รักของข้าพระองค์ก็หาไม่
ข้าพระองค์ขอถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์
ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์โปรดทรงอภิรมย์ตัณหาดุจต้นไม้ในป่า
หรือไม่ก็ทรงสลัดนางทิ้งเสีย
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[83] ผู้ใดก่อความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นด้วยความทุกข์ของตน
หรือก่อความสุขให้แก่ตนด้วยความสุขของคนอื่น1
(ผู้นั้นชื่อว่า ไม่รู้ธรรม) ส่วนผู้ใดรู้อย่างนี้ว่า
ความทุกข์ ความสุขนี้ของเราเป็นอย่างไร
ของคนเหล่าอื่นก็เป็นอย่างนั้น
ผู้นั้นชื่อว่า รู้ธรรม
[84] คนอื่น ใครเล่าหนอบนพื้นปฐพีในโลกนี้
จะพึงเชื่อท่านว่า นางมิได้เป็นที่รักของเรา
อีกประการหนึ่ง ครั้นให้แล้ว
ท่านมิได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้เป็นที่รัก
ท่านจะคับแค้นใจอย่างหนัก

เชิงอรรถ :
1 ผู้ใดก่อความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นด้วยความทุกข์ของตน หมายถึงผู้ที่ถูกทุกข์บีบคั้นแล้วใส่ทุกข์ให้แก่คนอื่นคือ
นำทุกข์ออกจากสรีระของตัวแล้วใส่ในสรีระของผู้อื่น หรือก่อความสุขให้แก่ตนด้วยความสุขของคนอื่น
หมายถึงผู้ที่ถือเอาความสุขของคนอื่นมาใส่ไว้ในตน ชื่อว่าทำผู้อื่นให้ถึงความทุกข์เพราะเข้าใจว่า “เราจัก
นำความทุกข์ออกจากตน” ชื่อว่าทำผู้อื่นให้ถึงความทุกข์เพราะเข้าใจว่า “เราจักทำตนให้มีความสุข
สบาย” ชื่อว่าทำความสุขของคนอื่นให้พินาศเพราะเข้าใจว่า “เราจักทำตนให้มีความสุข” คนนั้นชื่อว่า
ไม่รู้ธรรม
ส่วนผู้ใดรู้อย่างนี้ว่า “ความสุขและความทุกข์ของเรานั้นเป็นอย่างไร ของคนอื่นก็เป็นอย่างนั้น”
ผู้นั้นชื่อว่ารู้ธรรม คือ รู้จักธรรม (ขุ.ชา.อ. 8/83/45)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :16 }