เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 4.กุณาลชาดก (536)
[318] เมื่อใด พวกเธอเมื่อเพ่งเล็งเห็นทรัพย์
ของบุรุษที่ควรจะถือเอาได้
เมื่อนั้น พวกเธอจะใช้วาจาอันอ่อนหวานชักพาเอาบุรุษนั้นไป
เหมือนชาวกัมโพชะใช้สำรับลวงม้า1
[319] เมื่อใด พวกเธอเมื่อเพ่งเล็งไม่เห็นทรัพย์
ของบุรุษที่ควรจะถือเอาได้
เมื่อนั้น พวกเธอจะเหินห่างทอดทิ้งบุรุษนั้นไปทุกด้าน
เหมือนคนข้ามฝั่งพอถึงฝั่งแม่น้ำแล้ว
ก็ละทิ้งแพสำหรับข้ามไป
[320] จริงอยู่ หญิงทั้งหลายเหล่านั้นอุปมาได้กับสิ่งผูกพัน
กินทุกอย่างเหมือนไฟ
มีมายากล้าแข็งเหมือนแม่น้ำที่มีกระแสไหลเชี่ยว
ย่อมคบหาได้ทั้งชายที่เป็นคนรัก และไม่ใช่คนรัก
เหมือนเรือจอดได้ทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น
[321] หญิงเหล่านั้นมิใช่เป็นสมบัติชายคนเดียวหรือสองคน
เหมือนร้านตลาดที่แบของวางขาย
ชายใดพึงสำคัญหญิงเหล่านั้นว่าเป็นของเรา
ชายนั้นชื่อว่าดักลมด้วยตาข่าย
[322] 1. แม่น้ำ 2. ทางเดิน 3. ร้านเครื่องดื่ม
4. สภา 5. บ่อน้ำ เป็นฉันใด
ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลายในโลกนี้ก็ฉันนั้น
ขอบเขตย่อมไม่มีสำหรับพวกเธอ

เชิงอรรถ :
1 ใช้สำรับลวงม้า หมายถึงชาวกัมโพชะต้องการม้าป่า เขาจะกั้นคอกแห่งหนึ่งแล้วทำประตูให้ดี เอาน้ำผึ้งทา
สาหร่ายที่ลอยอยู่บนน้ำที่พวกม้าป่าเคยกิน แล้วทอดสาหร่ายจนถึงประตูคอก ทาน้ำผึ้งตลอด ม้าป่ามา
กินน้ำ กินหญ้า กินสาหร่ายที่มีรสหวาน ติดใจในรสก็จะเดินเข้าคอกไปโดยไม่รู้ตัว (ขุ.ชา.อ. 8/318/361)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :149 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 4.กุณาลชาดก (536)
[323] หญิงทั้งหลายเหล่านี้เสมอกับไฟที่กินเปรียง
อุปมาได้กับหัวงูเห่า1 ย่อมเลือกกินแต่ของดี ๆ
เหมือนพวกโคเลือกเล็มแต่หญ้าดี ๆ ในภายนอกเท่านั้น

[324] 1. ไฟกินเปรียง 2. ช้างสาร
3. งูเห่า 4. พระราชาผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว
5. หญิงทั้งปวง

บุคคลทั้ง 5 เหล่านี้ นรชนพึงคบหาโดยความระมัดระวังเป็นนิตย์
เพราะว่าภาวะที่เป็นจริงของบุคคลเหล่านั้นรู้ได้ยากนัก
[325] ชายไม่พึงคบหา
1. หญิงผู้มีผิวพรรณงดงามนัก
2. หญิงผู้ที่ชายหมู่มากรักใคร่
3. หญิงผู้ฉลาดในการฟ้อนรำขับร้อง
4. หญิงผู้เป็นภรรยาของชายอื่น
5. หญิงผู้คบหาเพราะเหตุแห่งทรัพย์
หญิงทั้ง 5 ประเภทเหล่านี้ชายไม่พึงคบหาเลย
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น พญานกแร้งชื่ออานนท์ รู้แจ้งชัด
ซึ่งคาถาทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ของนกกุณาละ จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้
ในเวลานั้นว่า
[326] ถ้าบุรุษจะพึงยกแผ่นดินแม้ที่เต็มไปด้วยทรัพย์ผืนนี้
ให้แก่หญิงผู้ที่ตนยกย่องไซร้
หญิงนั้นได้โอกาสแล้วก็จะพึงดูหมิ่นบุรุษแม้นั้น เพราะเหตุนั้น
เราจึงไม่ยอมตกไปสู่อำนาจของหญิงเหล่านั้นผู้ที่ไม่ใช่คนดี

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงหญิงอุปมาได้กับหัวงูเห่า เพราะเหตุ 5 อย่างนี้ คือ (1) เพราะเป็นสัตว์มักโกรธ (2) เพราะเป็น
สัตว์มีพิษร้าย (3) เพราะเป็นสัตว์มีลิ้นสองแฉก (4) เพราะเป็นสัตว์ผูกโกรธ (5) เพราะเป็นสัตว์ประทุษ-
ร้ายมิตร ในเหตุ 5 อย่างที่สตรีชื่อว่ามีพิษร้าย พึงทราบได้เพราะความที่เธอมีราคะมาก ชื่อว่ามีลิ้นสองแฉก
เพราะเธอมักพูดส่อเสียด ชื่อว่าประทุษร้ายมิตร เพราะเธอมักประพฤตินอกใจ (ขุ.ชา.อ. 8/323/362)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :150 }