เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 4.กุณาลชาดก (536)
4. กุณาลชาดก (536)
ว่าด้วยนกดุเหว่า
เล่ากันมาอย่างนี้ ได้ฟังตามกันมาอย่างนี้ว่า ที่ประเทศหิมพานต์อันทรงไว้ซึ่ง
แผ่นดินมีโอสถทุกชนิด ดารดาษไปด้วยดอกไม้และพวงดอกไม้มากมายหลายชนิด
เป็นที่สัญจรไปมาแห่งช้าง โคลาน กระบือ กวาง จามรี เนื้อฟาน แรด ระมาด สิงโต
เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาป่า เสือดาว นาก ชะมด เสือปลา กระต่าย
วัวกระทิง เป็นที่อาศัยแห่งโขลงช้างใหญ่และช้างพลายตระกูลมหานาค เกลื่อนกล่น
อยู่ทั่วปริมณฑลอันราบเรียบ มีค่าง ลิง อีเห็น ละมั่ง เนื้อสมัน อีเก้ง ยักษิณี
หน้าลา กินนร ยักษ์ และรากษสอาศัยอยู่ร่วมกัน ดารดาษไปด้วยหมู่ไม้มากมาย
หลายพันธุ์มีทั้งดอกยังตูม ทั้งกำลังออกช่อ ทั้งดอกที่บานสะพรั่ง และดอกที่บาน
ตลอดยอด มีฝูงนกเขา นกโพระดก นกหัสดีลิงค์ นกยูง นกดุเหว่า นกยาง นกกระสา
ส่งเสียงร้องกึกก้องระงมไพร เป็นภูมิประเทศประดับแน่นไปด้วยแร่ธาตุหลายร้อย
ชนิดเป็นต้นว่าอัญชัน มโนศิลา หรดาล มหาหิงคุ์ ทอง เงิน และทองคำ ท่านผู้เจริญ
ทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ไพรสณฑ์อันน่ารื่นรมย์เห็นปานนี้ มีนกดุเหว่าตัวหนึ่งชื่อ
กุณาละ อาศัยอยู่ เป็นนกที่สวยงาม มีขนและปีกงดงามยิ่งนัก
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า นกดุเหว่าตัวนั้นมีนางนกดุเหว่าเป็นนางบำเรอ
ถึง 3,500 ตัว ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นางนกดุเหว่า 2 ตัวใช้
ปากคาบท่อนไม้ให้นกกุณาละนั้นจับตรงกลาง พาบินไปด้วยประสงค์ว่า “ความ
เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการเดินทางไกลอย่าได้เบียดเบียนนกกุณาละนั้นเลย” นาง
นกดุเหว่า 500 ตัวบินอยู่ข้างล่างด้วยประสงค์ว่า “ถ้านกกุณาละนี้พลัดตกจากคอน
พวกเราจักใช้ปีกประคองรับไว้”
นางนก 500 ตัวบินอยู่ข้างบนด้วยประสงค์ว่า “แสงแดดอย่าได้แผดเผานก
กุณาละนั้นเลย”
นางนกฝูงละ 500 ตัวบินขนาบอยู่ทั้ง 2 ข้างด้วยประสงค์ว่า “ความหนาว
ก็ตาม ความร้อนก็ตาม หญ้าก็ตาม ละอองก็ตาม ลมก็ตาม น้ำค้างก็ตาม อย่า
ได้ถูกต้องนกกุณาละนั้นเลย”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :134 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 4.กุณาลชาดก (536)
นางนก 500 ตัวบินอยู่ข้างหน้าด้วยประสงค์ว่า “คนเลี้ยงโคก็ตาม คนเลี้ยง
สัตว์ก็ตาม คนหาบหญ้าก็ตาม คนหาฟืนก็ตาม คนทำงานในป่าก็ตาม อย่าได้ใช้
ดุ้นฟืน กระเบื้อง ฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ ศัสตรา หรือก้อนกรวด ทำร้ายนก
กุณาละนั้นเลย นกกุณาละนี้อย่าได้กระทบกอไม้ เถาวัลย์ ต้นไม้ กิ่งไม้ เสา หิน
และพวกนกที่มีกำลังกว่าเลย”
นางนก 500 ตัวบินประกบอยู่ข้างหลัง เปล่งเสียงอันไพเราะ อ่อนหวาน
เพราะพริ้ง จับใจ ด้วยประสงค์ว่า “นกกุณาละนี้อย่าได้เงียบเหงาอยู่บนคอนเลย”
นางนก 500 ตัวพากันบินไปยังทิศต่าง ๆ นำเอาผลไม้ชนิดต่าง ๆ จากต้นไม้
หลายชนิดมาด้วยประสงค์ว่า “นกกุณาละนี้อย่าได้ลำบากเพราะความหิวเลย”
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นางนกดุเหว่าเหล่านั้นพาเอานกกุณาละ
นั้นจากสวนดอกไม้ไปยังสวนดอกไม้ จากอุทยานไปยังอุทยาน จากท่าน้ำไปยังท่าน้ำ
จากยอดเขาไปยังยอดเขา จากสวนมะม่วงไปยังสวนมะม่วง จากสวนต้นหว้าไปยัง
สวนต้นหว้า จากสวนขนุนสำปะลอไปยังสวนขนุนสำปะลอ จากสวนมะพร้าวไปยัง
สวนมะพร้าวโดยเร็วพลัน ก็พากันมีความยินดี
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นกกุณาละผู้มีนางนกเหล่านั้น
ห้อมล้อมอยู่ตลอดวัน ก็ยังด่าอย่างนี้ว่า “ถอยออกไป พวกเจ้าอีนกถ่อย พวกเจ้า
จงฉิบหาย อีถ่อย อีโจร อีนักเลง อีเผอเรอ อีใจเบา อีเนรคุณคน อีตามใจตน
เองเหมือนลม1”
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ด้านทิศตะวันออกแห่งภูเขาหิมพานต์
นั้นแล มีแม่น้ำที่เกิดแต่ภูเขาอันสุขุมละเอียดอ่อน มีสีเขียว ไหลบ่าออกมา เป็น

เชิงอรรถ :
1 ถ่อย หมายถึงชั่ว เลว ทราม โจร ในที่นี้หมายถึงเป็นตัวล้างผลาญทรัพย์และข้าวเปลือกเป็นต้นในเรือน
นักเลง ในที่นี้หมายถึงเป็นสัตว์มีมายามาก เผอเรอ หมายถึงเสียสติ ใจเบา หมายถึงมีใจไม่มั่นคง
เนรคุณคน ในที่นี้หมายถึงเป็นส้ตว์ก่อความพินาศ เพราะประทุษร้ายมิตร ตามใจตนเองเหมือนลม
หมายถึงไปตามชอบใจ (ขุ.ชา.อ. 8/317-318)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :135 }