เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [18.ปัญญาสนิบาต] 2.อุมมาทันตีชาดก (527)
[69] เราได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้ใส่ตุ้มหูแก้วมณีแล้ว
นอนไม่หลับทั้งกลางวันและกลางคืน
เหมือนปราชัยต่อข้าศึกมาแล้วตั้งพันครั้ง
[70] หากท้าวสักกะจะพึงประทานพรแก่เราไซร้
ขอเราพึงได้พรนั้นเถิด
อภิปารกเสนาบดีพึงอภิรมย์กับนางอุมมาทันตี
ตลอดคืนหนึ่งหรือสองคืน
จากนั้นพระเจ้ากรุงสีพีพึงได้อภิรมย์กับนางบ้าง
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[71] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นจอมแห่งภูต
เมื่อข้าพระองค์นมัสการอยู่ซึ่งภูตทั้งหลาย
เทวดาตนหนึ่งได้มากล่าวเนื้อความนี้กับข้าพระองค์ว่า
พระทัยของพระราชาจดจ่ออยู่เฉพาะนางอุมมาทันตี
ข้าพระองค์ขอถวายนางแด่พระองค์
ขอพระองค์ทรงให้นางบำเรอเถิด
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[72] เราจะพึงคลาดไปจากบุญ และมิใช่เราจะไม่ตาย
ทั้งประชาชนจะพึงรู้ความชั่วของเรานี้
อีกประการหนึ่ง ครั้นให้แล้ว
ท่านมิได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้เป็นที่รัก
ท่านจะคับแค้นใจอย่างหนัก
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[73] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน นอกจากพระองค์และข้าพระองค์แล้ว
ประชาชนแม้ทั้งหมดไม่พึงรู้กรรมที่ทำแล้วได้
ข้าพระองค์ทูลถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :13 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [18.ปัญญาสนิบาต] 2.อุมมาทันตีชาดก (527)
ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์
โปรดทรงอภิรมย์ตัณหาดุจต้นไม้ในป่า1
หรือไม่ก็ทรงสลัดนางทิ้งเสีย
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[74] คนผู้ทำกรรมชั่วย่อมคิดว่า
คนเหล่าอื่นอย่ารู้การกระทำนี้เลย
แต่ว่า คนบนพื้นปฐพีที่ประกอบด้วยฤทธิ์2 ยังมีอยู่
ย่อมจะเห็นเขาผู้กระทำกรรมชั่วนั้น
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[75] คนอื่น ใครเล่าหนอบนพื้นปฐพีในโลกนี้
จะพึงเชื่อท่านว่า นางมิได้เป็นที่รักของเรา
อีกประการหนึ่ง ครั้นให้แล้ว
ท่านมิได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้เป็นที่รัก
ท่านจะคับแค้นใจอย่างหนัก
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[76] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน นางอุมมาทันตีนี้
เป็นที่รักของข้าพระองค์อย่างแท้จริง
ข้าแต่พระภูมิบาล นางมิได้เป็นที่รักของข้าพระองค์ก็หาไม่
ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงพระเจริญ
ขอพระองค์เสด็จไปหานางอุมมาทันตีทันที
ดุจราชสีห์เข้าไปยังถ้ำศิลา

เชิงอรรถ :
1 ตัณหาดุจต้นไม้ในป่า หมายถึงการร่วมอภิรมย์กับนางอุมมาทันตี (ภรรยาผู้อื่น) เป็นการทำกรรมหยาบ
ช้า คือ ตัณหาดุจต้นไม้ที่เจริญงอกงามอยู่ในป่า (ขุ.ชา.อ. 8/82/44)
2 นรชนผู้ประกอบด้วยฤทธิ์ หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพุทธบุตรผู้มีฤทธิ์ (ขุ.ชา.อ.
8/74/44)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :14 }