เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 3.สุธาโภชนชาดก (535)
[264] ในสระโบกขรณีนั้นมีปลานานาชนิด คือ
ปลาดุก ปลากระทุงเหว ปลากราย กุ้ง
ปลาตะเพียน ปลาสลาด และปลากา
ต่างพากันแหวกว่ายเกลื่อนกลาดอยู่ในสระที่มีขอบคัน
อย่างร่าเริงเกษมสำราญ ทั้งมีอาหารมากมาย
[265] ที่สระโบกขรณีนั้นมีนกนานาชนิด คือ
หงส์ นกกระเรียน นกยูง นกจักรพราก
นกออก นกดุเหว่า นกที่มีปีกสวยงาม
นกมีหงอน และนกโพระดกจำนวนมากมาย
ต่างพากันร่าเริงเกษมสำราญ ทั้งมีอาหารมากมาย
[266] ฝูงเนื้อนานาชนิดจำนวนมาก คือ
สิงโต เสือโคร่ง ช้าง หมี หมาป่า และเสือดาว
ต่างพากันมาดื่มน้ำที่สระโบกขรณีนั้น
[267] ณ ที่นั้นมีทั้งแรด โคลาน กระบือ ละมั่ง กวาง
เนื้อทราย หมูป่า ระมาด หมูบ้าน ชะมด เสือปลา
กระต่าย และวัวกระทิงเป็นจำนวนมาก
[268] ภาคพื้นและขุนเขาดารดาษไปด้วยดอกไม้อันงามวิจิตร
กึกก้องระงมไปด้วยเสียงฝูงนกขานขัน
เป็นสถานที่ฝูงนกอยู่อาศัย
(พระบรมศาสดาเพื่อจะทรงแสดงอาการที่หิรีเทพธิดาเข้าไปในอาศรมนั้น จึง
ตรัสว่า)
[269] เทพธิดานั้นผู้มีผิวพรรณงดงาม ทัดทรงดอกไม้สีเขียว
เยื้องกรายเข้าไปยังอาศรม
ประดุจสายฟ้าในระหว่างกลุ่มมหาเมฆ
โกสิยดาบสได้จัดตั้งเก้าอี้ที่ทำด้วยหญ้าคา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :129 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 3.สุธาโภชนชาดก (535)
มีพนักถักไว้อย่างดี สะอาด มีกลิ่นหอม
ปูลาดด้วยหนังสัตว์เพื่อเทพธิดานั้น
แล้วได้กล่าวคำนี้กับหิรีเทวีเทพธิดาว่า
เชิญนั่งให้สบายเถิด แม่โฉมงาม นี่อาสนะ
[270] ในกาลนั้น เมื่อนางหิรีเทวีนั้นนั่งบนเก้าอี้แล้ว
โกสิยมหามุนีผู้สวมชฎาและหนังเสือเหลือง
ได้รีบนำอาหารทิพย์พร้อมกับใช้ใบบัวสดตักน้ำมา
เพื่อนางเทพธิดาผู้ปรารถนาตามความต้องการด้วยตนเอง
[271] หิรีเทวีเทพธิดานั้นมีใจเบิกบาน
ประคองรับอาหารทิพย์นั้นด้วยมือทั้ง 2
แล้วได้กล่าวกับโกสิยดาบสผู้เกล้าชฎาว่า
เอาเถิด พระมุนีผู้ประเสริฐ บัดนี้
ดิฉันเป็นผู้ที่พระคุณเจ้ายอมบูชา ได้รับชัยชนะแล้ว
จะพึงกลับไปสู่สวรรค์ชั้นไตรทิพย์
[272] เทพธิดานั้นผู้มัวเมาแล้วด้วยความมัวเมาในผิวพรรณ
อันโกสิยดาบสผู้มีอานุภาพรุ่งเรืองอนุญาตแล้ว
ได้ไปในสำนักของท้าวสหัสสนัยน์แล้วกราบทูลว่า
ข้าแต่ท้าววาสวะ นี้อาหารทิพย์
ขอพระองค์ทรงประทานชัยชนะให้แก่หม่อมฉันเถิด พระเจ้าข้า
[273] แม้ท้าวสักกะก็ได้ทรงบูชาหิรีเทวีเทพธิดานั้น
ในกาลนั้น เทวดาทั้งหลายพร้อมทั้งพระอินทร์
ต่างพากันบูชานางสุรกัญญาผู้สูงสุด
เทพธิดานั้นเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประนมมือบูชา
ในกาลที่ตนเข้าไปนั่งเก้าอี้ตัวใหม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :130 }