เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 3.สุธาโภชนชาดก (535)
(อาสาเทพธิดากล่าวว่า)
[243] ข้าแต่ท่านโกสิยะ ในที่นี้ดิฉันไม่มีเพื่อน
ดิฉันเป็นเทพธิดาเกิดในดาวดึงสพิภพ ชื่อเทพธิดาอาสา
มายังสำนักของพระคุณเจ้าเพราะหวังจะได้อาหารทิพย์
พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ
ขอพระคุณเจ้าโปรดแบ่งอาหารทิพย์ให้ดิฉันบ้างเถิด
(โกสิยดาบสกล่าวว่า)
[244] พ่อค้าทั้งหลายผู้แสวงหาทรัพย์มีความหวังจึงจะไป
ย่อมขึ้นเรือแล่นไปในท้องทะเล
บางครั้งพวกเขาย่อมจมลงในท้องทะเลนั้นบ้าง
บางคราวพวกเขาย่อมสูญสิ้นทรัพย์ขาดทุนกลับมาบ้าง
[245] ชาวนาทั้งหลายมีความหวังจึงไถนา
หว่านพืช กระทำตามวิธีการ
แต่เพราะศัตรูพืชลงบ้าง ฝนแล้งบ้าง
พวกเขาจึงไม่ได้ประสบผลอะไร ๆ อันจะมีมาจากข้าวกล้านั้น
[246] อนึ่ง นรชนทั้งหลายผู้แสวงหาความสุข
ตั้งความหวังไว้เบื้องหน้า
ย่อมทำการเยี่ยงบุรุษของตนในกิจหน้าที่ของเจ้านาย
แต่พวกเขากลับถูกบีบคั้นอย่างหนัก
ไม่ได้อะไร ๆ แม้แต่น้อยเลย
เตลิดหนีไปทั่วทิศเพื่อประโยชน์แก่เจ้านาย
[247] นรชนทั้งหลายผู้แสวงหาความสุข
มีใจมุ่งหวังที่จะไปสวรรค์
จึงสละธัญญชาติ ทรัพย์สมบัติ และเครือญาติ
บำเพ็ญตบะอันเศร้าหมองแม้ตลอดกาลนาน
ขึ้นสู่ทางผิด จึงแล่นไปสู่ทุคติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :125 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 3.สุธาโภชนชาดก (535)
[248] ความหวังชื่อว่าก่อเรื่องคลาดเคลื่อน
นรชนเหล่านี้พากันตกนรกก็เพราะหวัง
แน่ะแม่อาสา เธอจงเลิกอาหารทิพย์ในตัวเธอเสีย
คนเช่นเธอไม่สมควรแก่อาสนะและน้ำ
อาหารทิพย์ที่ไหนจักมี จงไปเสียเถิด อาตมาไม่ชอบใจเธอ
(โกสิยดาบสสนทนากับนางสัทธาเทพธิดาว่า)
[249] เธอผู้มียศรุ่งเรือง อยู่ด้วยยศ เป็นเจ้าประจำทิศ
อาตมาขอถามเธอผู้มีนามอันน่าเกลียด
แม่เทพธิดาผู้มีเรือนร่างประดุจหุ่นทองคำ
โปรดบอกอาตมาเถิดว่า เธอเป็นเทพชั้นไหน
(ต่อจากนั้น นางสัทธาเทพธิดากล่าวว่า)
[250] ดิฉันชื่อสัทธาเทวี ได้รับการบูชาจากหมู่มนุษย์
มีปกติไม่คบหาสัตว์ผู้มีใจชั่วทุกเมื่อ
มายังสำนักของพระคุณเจ้าเพราะทะเลาะกันด้วยเรื่องอาหารทิพย์
พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ
ขอพระคุณเจ้าโปรดแบ่งอาหารทิพย์ให้ดิฉันบ้างเถิด
(โกสิยดาบสกล่าวว่า)
[251] ก็ในกาลบางคราว มนุษย์ทั้งหลายยึดถือการให้ทานบ้าง
การฝึกฝนตนบ้าง การบริจาคบ้าง ความสำรวมบ้าง
กระทำไปด้วยศรัทธา แต่มนุษย์พวกหนึ่งกลับถูกเธอ
ชักนำผิดทาง จึงกระทำการขโมยบ้าง พูดเท็จบ้าง
คดโกงบ้าง พูดส่อเสียดบ้าง
[252] บุรุษผู้มีความเพ่งเล็งภรรยาทั้งหลายของชายอื่น
ผู้เสมอเหมือนกัน ประกอบด้วยศีลบ้าง มีวัตรปฏิบัติต่อสามีบ้าง
กำจัดความพอใจแม้ในหญิงทั้งหลายที่เป็นกุลสตรีออกเสียแล้ว
กลับทำความศรัทธาในนางกุมภทาสี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :126 }