เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 3.สุธาโภชนชาดก (535)
[203] ท่านโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น
ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า ท่านจงให้ทานและจงบริโภค
จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข
(โกสิยเศรษฐีเห็นฤทธิ์ของพราหมณ์เหล่านั้น จึงถามว่า)
[204] พราหมณ์เหล่านี้มีผิวพรรณงามจริงหนอ
เพราะเหตุอะไร สุนัขของพวกท่านจึงเปลี่ยนสีได้ต่าง ๆ นานา
ข้าแต่ท่านพราหมณ์ทั้งหลาย
ขอท่านจงบอกข้าพเจ้า พวกท่านเป็นใครกัน
(ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า)
[205] เหล่าเทพที่มา ณ ที่นี้ คือ จันทเทพบุตร
และสุริยเทพบุตรทั้ง 2 ส่วนผู้นี้คือมาตลีเทพสารถี
เราคือท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพชั้นไตรทศ
และผู้นี้ชื่อว่าปัญจสิขเทพบุตร
(ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงสรรเสริญยศของปัญจสิขเทพบุตรนั้น จึงตรัสว่า)
[206] เสียงปรบมือ 1 ตะโพน 1 กลอง 1 เปิงมาง 1
ย่อมปลุกเทพบุตรผู้หลับแล้วนั้นให้ตื่นขึ้น
เทพบุตรผู้ตื่นขึ้นแล้วย่อมร่าเริงยินดี
[207] คนผู้ตระหนี่เห็นแก่ตัวเหล่านี้
บางพวกมักด่าว่าสมณะและพราหมณ์
เมื่อทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้
หลังจากตายแล้วย่อมไปสู่นรก
[208] คนผู้หวังสุคติเหล่านี้ บางพวกดำรงอยู่ในธรรม
คือ ความสำรวมและการจำแนกทาน
เมื่อทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้
หลังจากตายแล้วย่อมไปสู่สุคติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :117 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 3.สุธาโภชนชาดก (535)
[209] ท่านเป็นญาติของพวกเราเมื่อชาติก่อน
แต่ท่านนั้นเป็นคนตระหนี่ มักโกรธ มีธรรมเลวทราม
พวกเรามาที่นี้ก็เพื่อประโยชน์แก่ท่านนั่นเอง
ท่านอย่ามีธรรมอันเลวทรามไปตกนรกเลย
(โกสิยเศรษฐีได้ฟังดังนั้นมีจิตยินดี จึงกล่าวว่า)
[210] พวกท่านหวังเกื้อกูลข้าพเจ้าอย่างแน่นอน
จึงได้พร่ำสอนข้าพเจ้า ข้าพเจ้านั้น
จะทำตามที่พวกท่านผู้หวังเกื้อกูลกล่าวทุกประการ
[211] ตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพเจ้านั้นจะของดเว้น
จะไม่กระทำบาปอะไร ๆ อีก
อนึ่ง วัตถุอะไร ๆ ที่ไม่ให้จะไม่มีแก่ข้าพเจ้า
แม้แต่น้ำข้าพเจ้ายังไม่ได้ให้แล้ว ก็จะไม่ยอมดื่ม
[212] ข้าแต่ท้าววาสวะ ก็เมื่อข้าพเจ้าให้อยู่ตลอดกาลทั้งปวงอย่างนี้
ถึงโภคะทั้งหลายของข้าพเจ้าจักหมดสิ้นไป ข้าแต่ท้าวสักกะ
ต่อจากนั้น ข้าพเจ้าจะละกามทั้งหลายตามที่มีอยู่แล้วจักบวช
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[213] เทพธิดาเหล่านั้นอันท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดา
ทรงอภิบาลแล้วบันเทิงอยู่ ณ ภูเขาคันธมาทน์
ซึ่งเป็นภูเขาอันประเสริฐสูงสุด
ครั้งนั้น ฤๅษีผู้ประเสริฐสามารถจะไปได้ทั่วโลก
ได้ถือเอาช่อดอกไม้อันประเสริฐมีดอกบานสะพรั่งเดินมา
[214] ก็ดอกไม้นั้นสะอาด มีกลิ่นหอม
อันเหล่าเทพชั้นไตรทศสักการะ เป็นดอกไม้สูงสุด
อันท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าอมรเทพทรงใช้สอย
ซึ่งพวกมนุษย์หรือพวกอสูรไม่ได้แล้ว เว้นไว้แต่พวกเทวดา
เป็นดอกไม้ที่สมควรแก่เทวดาเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :118 }