เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 2.มหาหังสชาดก (534)
[177] เราเห็นกุศลธรรมเหล่านี้ดำรงอยู่แล้วในตนด้วยประการฉะนี้
ต่อจากนั้นปีติและโสมนัสมีประมาณไม่น้อยจึงเกิดแก่เรา
[178] ส่วนหงส์สุมุขะนี้ไม่ทันคิด
ไม่ทราบความประทุษร้ายแห่งจิตต่อข้าพระองค์
จึงได้เปล่งวาจาอันหยาบคายออกมา
[179] หงส์สุมุขะนั้นโกรธ
จึงได้เปล่งวาจาอันหยาบคายโดยไม่ไตร่ตรอง
กล่าวหาโทษที่ไม่มีอยู่ในข้าพระองค์
การเปล่งนี้ดูเหมือนไม่ใช่ของผู้มีปัญญา
(หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[180] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นอธิบดีแห่งมนุษย์
ความพลั้งพลาดนั้นย่อมมีแก่ข้าพระองค์เพราะความผลุนผลัน
อนึ่ง เมื่อพญาหงส์ธตรัฏฐะติดบ่วง
ข้าพระองค์จึงได้มีทุกข์มากกว่า
[181] พระองค์เป็นเสมือนพระบิดาของพระโอรสทั้งหลาย
เป็นเหมือนแผ่นดินเป็นที่พึ่งของภูตทั้งหลาย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นดุจพญาช้าง ขอพระองค์โปรดทรงงดโทษ
แก่ข้าพระองค์ผู้ถูกความผิดครอบงำด้วยเถิด
(พระราชาทรงสรวมกอดหงส์สุมุขะนั้นเมื่อจะรับการขอโทษ จึงตรัสว่า)
[182] เมื่อเป็นเช่นนี้ เราขออนุโมทนาต่อท่าน
เพราะท่านไม่ปกปิดความจริง
พญาหงส์ ท่านย่อมทำลายตะปูตรึงจิต1
จึงนับได้ว่าท่านเป็นหงส์ผู้ซื่อตรง

เชิงอรรถ :
1 ตะปูตรึงจิต หมายถึงเสาแห่งจิตหรือหลักตอแห่งจิต (ได้แก่ ความโกรธ ความไม่พอใจ จิตถูกโทษ
ครอบงำทำให้แข็งกระด้างต่อผู้อื่น) (ขุ.ชา.อ. 8/18/262)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :113 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 2.มหาหังสชาดก (534)
[183] รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่มากมาย
ในราชนิเวศน์แห่งแคว้นกาสี
คือ เงิน ทอง แก้วมุกดา และแก้วไพฑูรย์
[184] แก้วมณี สังข์ ไข่มุก ผ้า จันทน์เหลือง
หนังสัตว์ เครื่องงาช้าง ทองแดง และเหล็ก
เราขอมอบทรัพย์เครื่องปลื้มใจทุกชนิดนั้นให้แก่ท่านทั้ง 2
และขอปล่อยท่านทั้ง 2 ให้เป็นอิสระ
(พญาหงส์โพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[185] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมทัพ ข้าพระองค์ทั้ง 2
ผู้อันพระองค์ทรงยำเกรงและทรงสักการะแล้วโดยแน่แท้
ขอพระองค์โปรดทรงเป็นพระอาจารย์ของข้าพระองค์ทั้ง 2
ผู้ประพฤติในธรรมทั้งหลายเถิด
[186] ข้าแต่พระอาจารย์ผู้ทรงย่ำยีข้าศึก ข้าพระองค์ทั้ง 2
ผู้อันพระองค์ทรงอนุญาตแล้ว ทรงอนุมัติแล้ว
จะขอกระทำประทักษิณพระองค์แล้วกลับไปพบญาติทั้งหลาย
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[187] พระเจ้ากาสีทรงดำริและทรงปรึกษา
อรรถคดีตามที่กล่าวมาตลอดราตรีทั้งปวงแล้ว
ทรงอนุญาตพญาหงส์ทั้ง 2 ตัวประเสริฐสูงสุดกว่าหงส์ทั้งหลาย
[188] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีรุ่งสว่าง ดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นมา
ขณะพระเจ้ากาสีกำลังทอดพระเนตรอยู่
พญาหงส์ทั้ง 2 ได้โผบินไปสู่อากาศจากพระราชมณเฑียร
[189] หงส์ทั้งหลายเห็นพญาหงส์ทั้ง 2 นั้น
มาถึงโดยลำดับอย่างปลอดภัย
ต่างพากันส่งเสียงว่าเกก ๆ ได้เกิดสำเนียงเสียงดังเจี๊ยวจ๊าว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :114 }