เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 2.มหาหังสชาดก (534)
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[173] สัตบุรุษเราก็ยำเกรง
อสัตบุรุษเราก็เว้นห่างไกล
เราประพฤติคล้อยตามธรรมเหล่านั้น
ส่วนอธรรมเราได้ห่างเหินไปแล้ว
(พญาหงส์ทูลถามว่า)
[174] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์
พระองค์มิได้ทรงพิจารณาเห็นอนาคตอันยาวนานหรือ
ทรงมัวเมาในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา
ไม่ทรงสะดุ้งกลัวปรโลกหรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[175] เราพิจารณาเห็นอนาคตอันยาวนานก็หาไม่
พญาหงส์ เราดำรงอยู่ในธรรม 10 ประการ1
จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก

[176] คือ 1. ทาน 2. ศีล
3. การบริจาค 4. ความซื่อตรง
5. ความอ่อนโยน 6. ความเพียร
7. ความไม่โกรธ 8. ความไม่เบียดเบียน
9. ความอดทน 10. ความไม่คลาดธรรม1


เชิงอรรถ :
1 ธรรม 10 ประการ คือทศพิธราชธรรม 10 ประการ คือ (1) ทาน หมายถึงเจตนาให้วัตถุ 10 ประการ
มีข้าวและน้ำเป็นต้น (2) ศีล หมายถึงศีล 5 ศีล 10 (3) การบริจาค หมายถึงการบริจาคไทยธรรม
(4) ความซื่อตรง หมายถึงความเป็นคนตรง (5) ความอ่อนโยน หมายถึงความเป็นคนอ่อนโยน
(6) ความเพียร หมายถึงกรรมคือการรักษาอุโบสถ (7) ความไม่โกรธ หมายถึงความมีเมตตาเป็นเบื้องต้น
(8) ความไม่เบียดเบียน หมายถึงความมีกรุณาเป็นเบื้องต้น (9) ความอดทน หมายถึงความอดกลั้น
(10) ความไม่คลาดจากธรรม หมายถึงความไม่ขัดเคือง (ขุ.ชา.อ. 28/176/261)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :112 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 2.มหาหังสชาดก (534)
[177] เราเห็นกุศลธรรมเหล่านี้ดำรงอยู่แล้วในตนด้วยประการฉะนี้
ต่อจากนั้นปีติและโสมนัสมีประมาณไม่น้อยจึงเกิดแก่เรา
[178] ส่วนหงส์สุมุขะนี้ไม่ทันคิด
ไม่ทราบความประทุษร้ายแห่งจิตต่อข้าพระองค์
จึงได้เปล่งวาจาอันหยาบคายออกมา
[179] หงส์สุมุขะนั้นโกรธ
จึงได้เปล่งวาจาอันหยาบคายโดยไม่ไตร่ตรอง
กล่าวหาโทษที่ไม่มีอยู่ในข้าพระองค์
การเปล่งนี้ดูเหมือนไม่ใช่ของผู้มีปัญญา
(หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[180] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นอธิบดีแห่งมนุษย์
ความพลั้งพลาดนั้นย่อมมีแก่ข้าพระองค์เพราะความผลุนผลัน
อนึ่ง เมื่อพญาหงส์ธตรัฏฐะติดบ่วง
ข้าพระองค์จึงได้มีทุกข์มากกว่า
[181] พระองค์เป็นเสมือนพระบิดาของพระโอรสทั้งหลาย
เป็นเหมือนแผ่นดินเป็นที่พึ่งของภูตทั้งหลาย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นดุจพญาช้าง ขอพระองค์โปรดทรงงดโทษ
แก่ข้าพระองค์ผู้ถูกความผิดครอบงำด้วยเถิด
(พระราชาทรงสรวมกอดหงส์สุมุขะนั้นเมื่อจะรับการขอโทษ จึงตรัสว่า)
[182] เมื่อเป็นเช่นนี้ เราขออนุโมทนาต่อท่าน
เพราะท่านไม่ปกปิดความจริง
พญาหงส์ ท่านย่อมทำลายตะปูตรึงจิต1
จึงนับได้ว่าท่านเป็นหงส์ผู้ซื่อตรง

เชิงอรรถ :
1 ตะปูตรึงจิต หมายถึงเสาแห่งจิตหรือหลักตอแห่งจิต (ได้แก่ ความโกรธ ความไม่พอใจ จิตถูกโทษ
ครอบงำทำให้แข็งกระด้างต่อผู้อื่น) (ขุ.ชา.อ. 8/18/262)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :113 }