เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 2.มหาหังสชาดก (534)
[148] บุคคลมุ่งการกล่าวเท็จและความโลภ
คือความต้องการอันชั่วช้าแล้วล่วงเลยสนธิทั้ง 21ไป
ย่อมเข้าถึงนรกอันไม่มีความสำราญ
(พระราชาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[149] สุมุขะ เรามิได้ประพฤติผิดที่จับท่านมาที่นี้
เพราะความโลภก็หามิได้ เราทราบมาว่า ท่านทั้งหลาย
เป็นบัณฑิต มีปัญญาละเอียดอ่อน
เป็นนักคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
[150] ทำอย่างไรพญาหงส์ทั้ง 2
จึงจะมากล่าววาจาอันมีประโยชน์ ณ ที่นี้
สุมุขะเพื่อนรัก นายพรานถูกเราสั่ง
จึงได้จับท่านด้วยเหตุนั้น
(หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[151] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งแคว้นกาสี
ข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อชีวิตใกล้เข้ามาถึงคราวใกล้ตาย
จึงจะกล่าววาจาที่มีประโยชน์หามิได้เลย
[152] ผู้ใดฆ่าเนื้อด้วยเนื้อต่อ หรือว่าฆ่านกด้วยนกต่อ
หรือเบียดเบียนผู้เป็นพหูสูตด้วยสุตะ
จะมีอะไรเล่าเลวทรามไปกว่านั้น
[153] ก็ผู้ใดกล่าวถ้อยคำอันประเสริฐ
แต่อิงอาศัยธรรมอันไม่ประเสริฐ
ผู้นั้นชื่อว่าย่อมพลาดจากโลกทั้ง 2
คือ ทั้งโลกนี้และโลกหน้า

เชิงอรรถ :
1 สนธิทั้ง 2 หมายถึงปฏิสนธิในเทวโลกและมนุษยโลกทั้ง 2 อธิบายว่า คนที่ทำบาปธรรมเหล่านี้ไว้
ต่อไปเบื้องหน้าก็จะล่วงเลยปฏิสนธิที่เป็นสุคติเข้าถึงนรกที่ไม่น่ายินดีไป (ขุ.ชา.อ. 8/146/255)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :108 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 2.มหาหังสชาดก (534)
[154] บุคคลได้ยศแล้วไม่พึงมัวเมา
ถึงความสงสัยในชีวิต1แล้วไม่พึงเดือดร้อน
พึงพยายามในกิจการงานทั้งหลายร่ำไป
และพึงปิดช่องโหว่ทั้งหลาย2เสีย
[155] บัณฑิตผู้เจริญเหล่าใดผ่านชีวิตโลกนี้ไป
ถึงคราวใกล้ตาย ประพฤติธรรมในโลกนี้
บัณฑิตเหล่านั้นย่อมไปสู่สวรรค์ชั้นไตรทิพย์แล้วด้วยประการฉะนี้
[156] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งแคว้นกาสี
พระองค์ทรงสดับคำนี้แล้ว
ขอทรงรักษาธรรมไว้ในพระองค์เถิด
และขอทรงปล่อยพญาหงส์ธตรัฏฐะ
ผู้ประเสริฐสูงสุดกว่าหงส์ทั้งหลายเถิด
(พระราชาครั้นสดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[157] พนักงานทั้งหลายจงนำน้ำมันทาเท้า
และอาสนะอันมีค่ามากมา
เราจะปล่อยพญาหงส์ธตรัฏฐะผู้มียศออกจากกรง
[158] และเราจะปล่อยพญาหงส์
ตัวที่เมื่อหงส์ผู้เป็นพระราชามีสุขก็เป็นสุขด้วย
เมื่อมีทุกข์ก็เป็นทุกข์ด้วย
ซึ่งเป็นหงส์เสนาบดี เป็นนักปราชญ์
มีปัญญาละเอียดอ่อน เป็นนักคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
[159] บุคคลเช่นนี้แลสมควรที่จะบริโภคก้อนข้าวของนายได้
เหมือนหงส์สุมุขะผู้เป็นเพื่อนร่วมชีวิตของพระราชา

เชิงอรรถ :
1 ถึงความสงสัยในชีวิต หมายถึงประสบทุกข์แล้วไม่พึงลำบาก (ขุ.ชา.อ. 8/154/257)
2 ปิดช่องโหว่ทั้งหลาย หมายถึงพึงปิด พึงกั้นช่องทะลุ (ข้อบกพร่อง) ของตน (ขุ.ชา.อ. 8/154/257)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :109 }