เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 2.มหาหังสชาดก (534)
[122] จริงอยู่ ผู้ถึงความสงสัยในชีวิตทั้งปวง
ถึงจะหวาดกลัวก็อดกลั้นความกลัวไว้
เพราะบัณฑิตทั้งหลายผู้ดำรงอยู่ในฐานะเป็นผู้ใหญ่
ย่อมประกอบประโยชน์ที่ยากจะประกอบได้
[123] พระราชาทั้งหลายทรงปรารถนาข้าราชการที่กล้าหาญ
เพื่อประสงค์ที่จะให้คนกล้าหาญ
ป้องกันอันตรายและเหตุรอบข้างพระองค์
[124] วันนี้ ขอพ่อครัวของพระราชา
อย่าเชือดเราทั้ง 2 ในห้องเครื่องใหญ่เลย
เพราะว่า สีขนปีกจะฆ่าท่านเหมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่
[125] ท่านแม้พ้นแล้วก็ไม่ปรารถนาจะบินไป
ตนเองกลับเดินเข้ามาหาเครื่องดัก
วันนี้ แม้ท่านผู้ถึงความสงสัยในชีวิต
จงถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์เถิด
อย่ายื่นปากออกมาเลย
[126] ท่านนั้นจงประกอบความเพียร
ที่เนื่องด้วยธรรมอันสมควรนั้นเถิด
จงเที่ยวแสวงหาหนทางรอดชีวิตให้แก่เรา
ด้วยความเพียรอันผ่องแผ้วของท่าน
(หงส์สุมุขะกล่าวว่า)
[127] อย่าทรงกลัวเลย พระองค์ผู้ประเสริฐ
ด้วยว่า บุคคลทั้งหลายเช่นกับพระองค์หากลัวไม่
ข้าพระองค์จักประกอบความเพียรอันเนื่องด้วยธรรมอันสมควร
ด้วยความเพียรอันผ่องแผ้วนั้น
พระองค์จักพ้นจากบ่วงโดยเร็วพลัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :104 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 2.มหาหังสชาดก (534)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสพระคาถาว่า)
[128] นายพรานนั้นเข้าไปยังประตูพระราชวังพร้อมทั้งหาบหงส์
ด้วยกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงกราบทูลถึงเรา
ให้พระราชาทรงทราบว่า พญาหงส์ธตรัฏฐะนี้มาแล้ว
[129] ได้ยินว่า พระเจ้าสัญญมนะทอดพระเนตรเห็น
พญาหงส์ทั้ง 2 นั้นเช่นกับผู้มีบุญ
รู้ได้ด้วยลักษณะ จึงได้รับสั่งกับพวกอำมาตย์ว่า
[130] ท่านทั้งหลายจงให้ผ้า ข้าว น้ำ และของบริโภค
แก่นายพราน เงินเป็นบ่อเกิดความพอใจ1 ให้เขา
จงให้แก่เขาตามที่เขาต้องการ
(พระบรมศาสดาตรัสว่า)
[131] พระเจ้ากาสีทอดพระเนตรเห็นนายพรานผู้มีอาการร่าเริง
จึงได้ตรัสคำนี้ว่า เขมกะ เพื่อนรัก
ผิว่าสระโบกขรณีนี้มีฝูงหงส์จับอยู่เต็มไปหมดไซร้
[132] ทำไมท่านจึงถือบ่วงเข้าไปใกล้พญาหงส์
ผู้งดงามซึ่งอยู่ ณ ท่ามกลาง
ได้จับพญาหงส์ผู้มีหมู่ญาติเกลื่อนกล่น
ซึ่งมิใช่หงส์ชั้นกลางได้อย่างไร
(นายพรานเขมกะนั้นกราบทูลพระราชาว่า)
[133] วันนี้เป็นราตรีที่ 7 ของข้าพระองค์
ข้าพระองค์ไม่ประมาท แอบซ่อนอยู่ในตุ่ม
คอยแสวงหารอยเท้าของพญาหงส์ทองตัวนั้น
ตัวเข้าไปใกล้สถานที่ที่จับเหยื่อ

เชิงอรรถ :
1 เงินเป็นบ่อเกิดความพอใจ หมายถึงเป็นกิริยาแสดงความใคร่ของเขา (ขุ.ชา.อ. 8/130/250)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :105 }