เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 2.มหาหังสชาดก (534)
[99] หงส์สุมุขะครั้นเห็นนายพรานกำลังเดินเข้ามา
จึงจับอยู่เบื้องหน้าพญาหงส์
เมื่อจะปลอบพญาหงส์ผู้หวาดกลัวให้เบาใจ
จึงได้กล่าวขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า
[100] อย่าทรงกลัวเลย พระองค์ผู้ประเสริฐ
ด้วยว่า คนทั้งหลายเช่นกับพระองค์หากลัวไม่
ข้าพระองค์จักประกอบความเพียรอันเนื่องด้วยธรรมอันสมควร
ด้วยความเพียรอันผ่องแผ้วนั้น
พระองค์จักพ้นจากบ่วงโดยเร็วพลัน
(พระบรมศาสดาตรัสว่า)
[101] นายพรานได้สดับคำสุภาษิตของหงส์สุมุขะนั้น
ก็มีโลมชาติชูชัน จึงได้น้อมอัญชลีต่อหงส์สุมุขะนั้น
ด้วยกล่าวว่า
[102] เราไม่เคยได้ยินหรือเคยได้เห็นนกพูดภาษาคนได้
นกพูดถ้อยคำอันประเสริฐ เปล่งวาจาภาษามนุษย์ได้
[103] หงส์ตัวนี้เป็นอะไรกับเจ้า
เจ้าพ้นแล้วยังเฝ้าหงส์ตัวติดบ่วงอยู่ใกล้ ๆ
หงส์ทั้งหลายพากันละทิ้งหนีไป
ทำไมเจ้าจึงเหลืออยู่แต่ผู้เดียว
(หงส์สุมุขะถูกนายพรานถามแล้ว จึงตอบว่า)
[104] ท่านผู้เป็นศัตรูของฝูงนก
หงส์นั้นเป็นราชาของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ารับตำแหน่งเป็นเสนาบดีของพระองค์
เมื่อมีภัยอันตราย ข้าพเจ้าไม่สามารถจะละทิ้งพระองค์
ผู้เป็นอธิบดีแห่งฝูงวิหคไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :100 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 2.มหาหังสชาดก (534)
[105] หงส์นั้นเป็นนายของหงส์ฝูงใหญ่และของข้าพเจ้า
ขอพระองค์อย่าถึงความพินาศพระองค์เดียวเลย
นายพรานเพื่อนเอ๋ย หงส์นี้เป็นนายอย่างแท้จริง
ข้าพเจ้าจึงพอใจที่จะอยู่ใกล้ ๆ พระองค์
(นายพรานถามว่า)
[106] หงส์สุมุขะเอ๋ย ท่านนอบน้อมตำแหน่ง
ประดุจก้อนข้าวที่ได้รับ
ชื่อว่าประพฤติธรรมอันประเสริฐ
ข้าพเจ้ายอมปล่อยนายของท่าน
ท่านทั้ง 2 จงไปตามสบายเถิด
(หงส์สุมุขะตอบว่า)
[107] เพื่อนเอ๋ย ถ้าท่านดักหงส์และนกทั้งหลาย
ด้วยความพยายามเพื่อประโยชน์แก่ตนไซร้
ข้าพเจ้าทั้ง 2 ขอรับอภัยทานนั้นของท่าน
[108] ถ้าท่านไม่ดักหงส์และนกทั้งหลายด้วยความพยายาม
เพื่อประโยชน์แก่ตนไซร้ ท่านจะไม่มีอิสระ
เมื่อปล่อยเราทั้ง 2 ไป จะพึงทำตนให้เป็นขโมยนะ นายพราน
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสพระคาถาว่า)
[109] ท่านเป็นคนรับใช้ของพระราชาองค์ใด
จงนำข้าพเจ้าทั้ง 2 ไปให้ถึงพระราชาองค์นั้นตามพระประสงค์
พระเจ้าสัญญมนะจักทรงกระทำ
ตามพระประสงค์ในพระราชนิเวศน์นั้น
[110] นายพรานถูกหงส์สุมุขะกล่าวอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้แล้ว
จึงใช้มือประคองพญาหงส์เนื้อทอง
ตัวมีผิวพรรณประดุจทองคำทั้ง 2 ใส่ไว้ในกรง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :101 }