เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [2. ทุกนิบาต] 6. นตังทัฬหวรรค 9. กุกกุฏชาดก (209)
8. สุงสุมารชาดก (208)
ว่าด้วยปัญญาของจระเข้
(พญาวานรโพธิสัตว์ได้กล่าวกับจระเข้ว่า)
[115] อย่าเลยสำหรับมะม่วง ผลหว้า
และผลขนุนที่ท่านเห็นที่สมุทรฝั่งโน้น
ผลมะเดื่อของเราประเสริฐกว่า
[116] ร่างกายของท่านใหญ่โตเสียเปล่า
แต่ปัญญาไม่สมกับร่างกายเลย
นี่จระเข้ เจ้าถูกเราลวงแล้ว
บัดนี้เจ้าจงไปตามสบายเถิด
สุงสุมารชาดกที่ 8 จบ

9. กุกกุฏชาดก (209)
ว่าด้วยไก่
(ไก่ต้องการจะให้นายพรานละอายใจ จึงพูดเป็นภาษามนุษย์ว่า)
[117] ต้นหูกวาง ต้นสมอพิเภกในป่า
ข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว
ต้นไม้เหล่านั้นไม่สามารถจะเคลื่อนที่ได้เหมือนกับท่าน
(นายพรานกล่าวว่า)
[118] ไก่ตัวนี้คือไก่ตัวเก่าที่แหกกรงหนีมา
เป็นไก่ที่ฉลาด หลบหนีจากบ่วงหางสัตว์มาได้
และยังขันเยาะเย้ยเสียอีก
กุกกุฏชาดกที่ 9 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :95 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [2. ทุกนิบาต] 7. พีรณถัมภกวรรค 2. อุจฉิฏฐภัตตชาดก (212)
10. กันทคลกชาดก (210)
ว่าด้วยนกหัวขวานตายเพราะไม้แก่น
(นกหัวขวานกันทคลกะตกลงที่พื้นดินแล้ว กล่าวกับนกหัวขวานขทิรวนิย-
โพธิสัตว์ว่า)
[119] ท่านขทิรวนิยะผู้เจริญ ต้นไม้ต้นนี้
มีใบเกลี้ยง มีหนาม ชื่อต้นอะไร
กระหม่อมของข้าพเจ้าแตก
เพราะการเจาะต้นไม้นี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
(นกหัวขวานขทิรวนิยโพธิสัตว์ฟังคำรำพันของนกหัวขวานกันทคลกะแล้ว จึง
กล่าวว่า)
[120] นกหัวขวานตัวนี้ชื่อกันทคลกะ เมื่อจะเจาะหมู่ไม้ในป่า
ได้บินท่องเที่ยวไปในหมู่ไม้แห้งที่ไม่มีแก่น
ต่อมาภายหลัง ได้มาพบไม้ตะเคียนซึ่งมีแก่นโดยธรรมชาติ
ได้ทำลายกระหม่อมที่ต้นตะเคียนนั้นแล้ว
กันทคลกชาดกที่ 10 จบ
นตังทัฬหวรรคที่ 6 จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

1. พันธนาคารชาดก 2. เกฬิสีลชาดก
3. ขันธชาดก 4. วีรกชาดก
5. คังเคยยชาดก 6. กุรุงคมิคชาดก
7. อัสสกชาดก 8. สุงสุมารชาดก
9. กุกกุฏชาดก 10. กันทคลกชาดก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :96 }