เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [2. ทุกนิบาต] 6. นตังทัฬหวรรค 2. เกฬิสีลชาดก (202)
6. นตังทัฬหวรรค
หมวดว่าด้วยเครื่องผูกที่มั่นคง
1. พันธนาคารชาดก (201)
ว่าด้วยเครื่องผูก
(ฤๅษีโพธิสัตว์เปล่งอุทานว่า)
[101] นักปราชญ์ไม่กล่าวเครื่องผูกที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้
และทำด้วยหญ้าปล้องว่า เป็นเครื่องผูกที่มั่นคง
ส่วนความกำหนัดยินดีในแก้วมณีและต่างหูก็ดี
ความเยื่อใยในบุตรและภรรยาก็ดี
[102] นักปราชญ์กล่าวเครื่องผูกที่ประกอบด้วยกิเลสนั่นว่า
เป็นเครื่องผูกที่มั่นคง คร่าสัตว์ให้ตกต่ำ ย่อหย่อน แก้ได้ยาก
นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องผูกนั้นได้ขาด
หมดความเยื่อใย ละความสุขในกามเสียแล้วหลีกไป
พันธนาคารชาดกที่ 1 จบ

2. เกฬิสีลชาดก (202)
ว่าด้วยผู้มีปกติมัวเมาในการเล่น
(พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมาแสดงแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[103] พวกหงส์ก็ดี นกกระเรียนก็ดี นกยูงก็ดี
ช้างก็ดี เนื้อฟานก็ดี กลัวราชสีห์ด้วยกันทั้งนั้น
ร่างกายไม่ถือเป็นประมาณ
[104] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
แม้เด็กถ้ามีปัญญาก็เป็นผู้ใหญ่ได้
ส่วนคนพาลถึงจะมีร่างกายใหญ่โตก็เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้
เกฬิสีลชาดกที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :91 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [2. ทุกนิบาต] 6. นตังทัฬหวรรค 5. คังเคยยชาดก (205)
3. ขันธชาดก (203)
ว่าด้วยขันธปริตรป้องกันสัตว์ร้ายต่าง ๆ ได้
(ฤๅษีโพธิสัตว์สอนดาบสทั้งหลายให้เจริญเมตตาในพญางูทั้ง 4 ว่า)
[105] เราขอมีเมตตากับตระกูลพญางูวิรูปักษ์
เราขอมีเมตตากับตระกูลพญางูเอราปถะ
เราขอมีเมตตากับตระกูลพญางูฉัพยาบุตร
เราขอมีเมตตากับตระกูลพญางูกัณหาโคตมกะ
เราขอมีเมตตากับสัตว์ไม่มีเท้า เราขอมีเมตตากับสัตว์สองเท้า
เราขอมีเมตตากับสัตว์สี่เท้า เราขอมีเมตตากับสัตว์มีหลายเท้า
สัตว์ไม่มีเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
สัตว์สองเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา สัตว์สี่เท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
สัตว์มีหลายเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
ขอสรรพสัตว์ที่มีลมหายใจ
ขอสรรพสัตว์ที่ยังมีชีวิตทั้งมวลจงพบกับความเจริญ
ความชั่วช้าอย่าได้มาแผ้วพานสัตว์ตนใดตนหนึ่งเลย1
[106] พระพุทธเจ้ามีพระคุณหาประมาณมิได้
พระธรรมมีพระคุณหาประมาณมิได้
พระสงฆ์มีพระคุณหาประมาณมิได้
สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย คือ งู แมงป่อง
ตะขาบ แมงมุม ตุ๊กแก หนู มีคุณพอประมาณได้
เราทำการรักษา ทำการป้องกันไว้แล้ว
ขอหมู่สัตว์ผู้มีชีวิตทั้งหลายจงหลีกไป
เรานั้นขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาค
ขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง 7 พระองค์
ขันธชาดกที่ 3 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดู องฺ. จตุกฺก. (แปล) 21/67/111-112

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :92 }