เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [2. ทุกนิบาต] 5. รุหกวรรค 4. มณิโจรชาดก (194)
(รุหกปุโรหิตได้ฟังพระดำรัสนั้น จึงกราบทูลว่า)
[82] เมื่อสายป่านยังมีอยู่ นายช่างผู้กระทำสายธนูก็มีอยู่
ข้าพระองค์จักกระทำสายธนูใหม่
พอกันทีสำหรับสายธนูเก่า
รุหกชาดกที่ 1 จบ

2. สิริกาฬกัณณิชาดก (192)
ว่าด้วยสิริกับกาฬกัณณี
(พระราชาตรัสถามเสนกบัณฑิตว่า)
[83] หญิงที่มีรูปงาม มีกิริยามารยาท
และความประพฤติเรียบร้อย ชายไม่พึงปรารถนาเธอ
ท่านเชื่อไหมล่ะ พ่อมโหสธบัณฑิต
(เสนกบัณฑิตฟังพระดำรัสนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า)
[84] ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์เชื่อ พระเจ้าข้า
ชายนั้นคงเป็นคนต่ำต้อย
เพราะสิริกับกาฬกัณณีเข้ากันไม่ได้เลยไม่ว่าในกาลไหน ๆ
สิริกาฬกัณณิชาดกที่ 2 จบ

3. จูฬปทุมชาดก (193)
ว่าด้วยพระเจ้าจูฬปทุม
(ปทุมกุมารโพธิสัตว์ได้สดับคำของชายาผู้ชั่วช้าแล้ว จึงตรัสว่า)
[85] หญิงคนนี้แหละคือหญิงคนนั้น
แม้เราก็คือชายคนนั้น หาใช่คนอื่นไม่
ชายคนที่หญิงนี้อ้างว่าเป็นสามีของนางตั้งแต่ยังเป็นกุมารี
ก็คือชายที่ถูกตัดมือตัดเท้าคนนี้แหละ หาใช่คนอื่นไม่
ขึ้นชื่อว่าหญิงควรฆ่าทั้งนั้น สัจจะไม่มีในหญิงทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :86 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [2. ทุกนิบาต] 5. รุหกวรรค 4. มณิโจรชาดก (194)
[86] พวกท่านจงตีชายชั่วช้า หยาบคาย คล้ายซากศพ
มักเป็นชู้กับภรรยาคนอื่นคนนี้เสียด้วยสาก
จงตัดใบหูและจมูกของหญิงผู้ปรนนิบัติสามี
ที่ชั่วช้านั้นคนนี้เสียยังเป็น ๆ เถิด
จูฬปทุมชาดกที่ 3 จบ

4. มณิโจรชาดก (194)
ว่าด้วยพระเจ้าอธรรมิกราชลงโทษโจรลักแก้วมณี
(นางสุชาดาเห็นคหบดีโพธิสัตว์ถูกเฆี่ยน รำลึกถึงคุณแห่งศีลของตนแล้ว จึง
กล่าวว่า)
[87] เทวดาทั้งหลาย1ไม่มีหรือไม่อยู่เป็นแน่
เมื่อมีกิจเห็นปานนี้เกิดขึ้น
เทวดาทั้งหลายก็พากันไปค้างแรมเสียแน่
อนึ่ง ท่านผู้รักษาโลกก็ไม่มีอยู่ในโลกนี้แน่นอน
เมื่อคนทุศีลทั้งหลายกระทำกรรมอันหยาบช้าอยู่
คนทั้งหลายผู้ห้ามปรามก็ไม่มีแน่นอน
(ท้าวสักกะถวายโอวาทแก่พระราชาว่า)
[88] ในรัชสมัยของพระราชาผู้ไม่ทรงธรรม
ในกาลไม่สมควรตก ฝนก็ตก
ในกาลสมควรจะตก ฝนก็ไม่ตก
พระราชาผู้ไม่ทรงธรรม จุติจากโลกสวรรค์
พระราชาพระองค์นั้นถูกทำลายแล้ว
เพราะเหตุแห่งความชั่วมีประมาณเท่านี้แน่นอน
มณิโจรชาดกที่ 4 จบ

เชิงอรรถ :
1 คำว่า เทวดาทั้งหลาย ในที่นี้ หมายถึงเทวดาผู้คอยดูแลคนมีศีล และห้ามปรามคนทำชั่ว (ขุ.ชา.อ.
3/87/123)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :87 }