เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [2. ทุกนิบาต] 2. สันถววรรค 10. กกัณฏกชาดก (170)
(เมื่อเหยี่ยวนกเขาตายแล้ว นกมูลไถจึงออกมายืนบนอกของเหยี่ยวนกเขา
เปล่งอุทานว่า)
[36] เรานั้นเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุบาย
ยินดีแล้วในที่หากินอันเป็นเขตแห่งบิดา
เห็นประโยชน์ของตนอยู่
เป็นผู้ปราศจากศัตรู ย่อมเบิกบานใจ
สกุณัคฆิชาดกที่ 8 จบ

9. อรกชาดก (169)
ว่าด้วยศาสดาอรกะสอนการแผ่เมตตา
(พราหมณ์โพธิสัตว์บวชเป็นฤๅษี เมื่อจะสอนหมู่ฤๅษี จึงได้ประกาศอานิสงส์
ของเมตตาว่า)
[37] ผู้ใดอนุเคราะห์ชาวโลกทั้งมวลด้วยเมตตาจิตหาประมาณมิได้
ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ และเบื้องขวาง1โดยประการทั้งปวง
[38] จิตเกื้อกูลหาประมาณมิได้ เป็นจิตบริบูรณ์อันผู้นั้นอบรมดีแล้ว
กรรมใดที่เขาบำเพ็ญแล้วพอประมาณ
กรรมนั้นจักไม่เหลืออยู่ในจิตของเขานั้น
อรกชาดกที่ 9 จบ

10. กกัณฏกชาดก (170)
ว่าด้วยกิ้งก่าได้ทรัพย์
(พระราชาทรงทอดพระเนตรกิริยาของกิ้งก่านั้นซึ่งไม่นอบน้อมเหมือนก่อน จึง
ตรัสถามว่า)

เชิงอรรถ :
1 เบื้องบน คือแต่พื้นดินจนถึงพรหมโลกชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ เบื้องต่ำ คือแต่พื้นดินถึงอุสสทนรก
ใต้พื้นดิน เบื้องขวาง คือในโลกมนุษย์อันหาประมาณมิได้ (ขุ.ชา.อ. 3/37/60)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :73 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [2. ทุกนิบาต] 3. กัลยาณวรรค 3. มักกฏชาดก (173)
[39] กิ้งก่าบนยอดเสาค่ายตัวนี้ไม่ลงมาอ่อนน้อมเหมือนวันก่อน
ท่านมโหสธบัณฑิต ท่านรู้ไหมว่า
กิ้งก่ากลายเป็นสัตว์กระด้างกระเดื่องไปเพราะเหตุไร
[40] กิ้งก่าได้ทรัพย์กึ่งมาสกซึ่งตนไม่เคยได้มาก่อน
จึงดูหมิ่นพระเจ้าวิเทหะผู้ครองกรุงมิถิลา
กกัณฏกชาดกที่ 10 จบ
สันถววรรคที่ 2 จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

1. อินทสมานโคตตชาดก 2. สันถวชาดก
3. สุสีมชาดก 4. คิชฌชาดก
5. นกุลชาดก 6. อุปสาฬหกชาดก
7. สมิทธิชาดก 8. สกุณัคฆิชาดก
9. อรกชาดก 10. กกัณฏกชาดก

3. กัลยาณวรรค
หมวดว่าด้วยกัลยาณธรรม
1. กัลยาณธัมมชาดก (171)
ว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม
(เศรษฐีโพธิสัตว์ทูลขอพระบรมราชานุญาตบวชว่า)
[41] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน ในกาลใด
บุคคลได้รับสมญาว่า ผู้มีกัลยาณธรรมในโลก
ในกาลนั้นนรชนผู้มีปัญญาไม่ควรให้ตนเสื่อมจากสมญานั้น
ธรรมดาสัตบุรุษถือเอาสมญานั้นเป็นธุระสำคัญแม้ด้วยหิริ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :74 }