เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [2. ทุกนิบาต] 2. สันถววรรค 2. สันถวชาดก (162)
2. สันถววรรค
หมวดว่าด้วยความสนิทสนม
1. อินทสมานโคตตชาดก (161)
ว่าด้วยอินทสมานโคตรดาบส
(ดาบสโพธิสัตว์บอกดาบสที่ไม่ควรทำความคลุกคลีกับคนชั่วว่า)
[21] บุคคลไม่ควรทำความสนิทสนมกับคนชั่ว
บุคคลผู้ประเสริฐรู้ประโยชน์ชัดอยู่
ก็ไม่ควรทำความสนิทสนมกับบุคคลผู้ไม่ประเสริฐ
เพราะว่า บุคคลผู้ไม่ประเสริฐถึงแม้จะอยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน
ก็ยังทำความชั่วเหมือนช้างได้ฆ่าอินทสมานโคตรดาบส
[22] บุคคลรู้บุคคลใดว่า ผู้นี้เช่นเดียวกับเราด้วยศีล ปัญญา และสุตะ
พึงกระทำไมตรีกับบุคคลเช่นนั้นแหละ
เพราะการสมาคมกับสัตบุรุษเป็นความสุขโดยแท้
อินทสมานโคตตชาดกที่ 1 จบ

2. สันถวชาดก (162)
ว่าด้วยการสนิทสนม
(พราหมณ์โพธิสัตว์ตกใจกลัวที่บรรณศาลาถูกไฟไหม้กล่าวว่า)
[23] สิ่งอื่นที่จะชั่วช้าไปกว่าความสนิทสนมกับคนชั่วไม่มี
เพราะไฟนี้อันเราให้อิ่มหนำด้วยเนยใสและข้าวปายาสแล้ว
ก็ยังเผาบรรณศาลาที่เรากระทำได้แสนยาก
(พระโพธิสัตว์ดำริว่าความสนิทสนมกับสัตบุรุษเป็นสิ่งประเสริฐ จึงกล่าวว่า)
[24] สิ่งอื่นที่จะประเสริฐไปกว่าความสนิทสนมกับสัตบุรุษไม่มี
แม่เนื้อสามายังเลียปากราชสีห์ เสือโคร่ง
และเสือเหลืองได้เพราะความสนิทสนม
สันถวชาดกที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :69 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [2. ทุกนิบาต] 2. สันถววรรค 4. คิชฌชาดก (164)
3. สุสีมชาดก (163)
ว่าด้วยพระเจ้าสุสีมะ
(พราหมณ์ปุโรหิตโพธิสัตว์ของพระเจ้าสุสีมะ กราบทูลเรื่องที่ได้ทราบข่าวมาว่า)
[25] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระนามว่าสุสีมะ ช้างดำมีงาขาว
ของพระองค์เหล่านี้ 100 กว่าเชือก ประดับด้วยข่ายทองคำ
พระเจ้าสุสีมะ พระองค์ยังทรงระลึกถึงการกระทำของพระชนก
และพระอัยยกาของพระองค์หรือ จึงตรัสว่า
เราจะให้ช้างเหล่านั้นแก่พราหมณ์เหล่าอื่น พระเจ้าข้า
(พระเจ้าสุสีมะทรงสดับคำของพระโพธิสัตว์แล้วตรัสว่า)
[26] นี่พ่อมาณพ ช้างดำมีงาขาวของเราเหล่านี้
100 กว่าเชือก ประดับด้วยข่ายทองคำ
เรายังระลึกถึงการกระทำของพระบิดาและพระอัยยกา
จึงพูดว่า เราจะให้ช้างเหล่านั้นแก่พราหมณ์เหล่าอื่น
สุสีมชาดกที่ 3 จบ

4. คิชฌชาดก (164)
ว่าด้วยสายตานกแร้ง
(พระเจ้าพรหมทัตตรัสถามพญาแร้งโพธิสัตว์ว่า)
[27] ธรรมดานกแร้งย่อมเห็นซากศพได้ไกลถึงร้อยโยชน์มิใช่หรือ
เพราะเหตุไร เจ้าแม้มาใกล้ข่ายและบ่วงแล้วก็ไม่รู้
(พญาแร้งโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[28] เมื่อใดสัตว์มีความเสื่อมในขณะจะสิ้นชีวิต
เมื่อนั้นถึงจะมาใกล้ข่ายและบ่วงก็ไม่รู้
คิชฌชาดกที่ 4 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :70 }