เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [2. ทุกนิบาต] 1. ทัฬหวรรค 6. อลีนจิตตชาดก (156)
(พระโพธิสัตว์ดาบสกล่าวชมเชยพญาครุฑว่า)
[8] เธอนั้นเป็นผู้เคารพยำเกรงเพศอันประเสริฐ
ถึงจะหิวก็ไม่อาจที่จะคร่าพญานาคตัวนั้นมากินได้
ขอเธอนั้นจงเป็นผู้อันพรหมรักษาคุ้มครองแล้ว
จงดำรงชีวิตอยู่สิ้นกาลนาน
อนึ่ง ภักษาทิพย์จงปรากฏมีแก่เธอ
อุรคชาดกที่ 4 จบ

5. ภัคคชาดก (155)
ว่าด้วยบิดาพระโพธิสัตว์ชื่อภัคคะ
(พราหมณ์โพธิสัตว์เห็นยักษ์ลงมา จึงกล่าวปรารภกับบิดาว่า)
[9] พ่อภัคคะ ขอพ่อจงมีชีวิตอยู่ถึง 120 ปี
ขอพวกปีศาจจงอย่าได้กินผมเลย
ขอพ่อจงมีชีวิตอยู่ถึง 120 ปีเถิด
(พระโพธิสัตว์เห็นยักษ์ลงมาหาบุตร จึงกล่าวปรารภกับบุตรว่า)
[10] แม้เจ้าก็จงมีชีวิตอยู่ถึง 120 ปี
ขอพวกปีศาจจงกินยาพิษ
ขอเจ้าจงมีชีวิตอยู่ถึง 120 ปีเถิด
ภัคคชาดกที่ 5 จบ

6. อลีนจิตตชาดก (156)
ว่าด้วยพระเจ้าอลีนจิต
(พระศาสดาทรงนำเรื่องอดีตนี้มาได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[11] เสนาหมู่ใหญ่อาศัยพระเจ้าอลีนจิต มีใจร่าเริง
ได้จับเป็นพระเจ้าโกศลผู้ไม่ทรงอิ่มราชสมบัติของตน ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :64 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [2. ทุกนิบาต] 1. ทัฬหวรรค 7. คุณชาดก (157)
[12] ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยนิสัย1 ปรารภความเพียร
เจริญกุศลธรรมเพื่อบรรลุนิพพานอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
พึงบรรลุธรรมอันเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวงโดยลำดับ ฉันนั้น
อลีนจิตตชาดกที่ 6 จบ

7. คุณชาดก (157)
ว่าด้วยมิตรธรรม
(สุนัขจิ้งจอกฟังคำของนางสุนัขจิ้งจอกแล้วจึงเข้าไปหาราชสีห์โพธิสัตว์ บอกเหตุ
ที่ภรรยาและบุตรของราชสีห์รบกวนแล้วว่า)
[13] ผู้มีอำนาจย่อมขับไล่ผู้น้อยตามความพอใจของตน
นี้เป็นธรรมดาของผู้มีกำลัง
นางมฤคีผู้มีเขี้ยวแหลมคมบันลือสีหนาท
คุกคามบุตรและภรรยาของข้าพเจ้า
ขอท่านจงทราบอย่างนี้
ที่พึ่งของพวกเรามีภัยเกิดขึ้นแล้ว
(ราชสีห์โพธิสัตว์กล่าวเตือนนางราชสีห์ว่า)
[14] ถึงแม้ว่ามิตรจะมีกำลังด้อยกว่า
แต่ดำรงอยู่ในมิตรธรรม
เขาชื่อว่าเป็นญาติ เป็นเผ่าพันธุ์
เป็นมิตร และเป็นเพื่อนของเรา
นี่นางผู้มีเขี้ยวแหลมคม
เจ้าอย่าได้ดูหมิ่นสุนัขจิ้งจอกผู้ให้ชีวิตแก่เราอีกเลย
คุณชาดกที่ 7 จบ

เชิงอรรถ :
1 คำว่า ถึงพร้อมด้วยนิสัย หมายถึงการได้พระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้า หรือพระปัจเจกพุทธเจ้า
เป็นที่อาศัย (ขุ.ชา.อ. 3/12/22)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :65 }