เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [17. จัตตาลีสนิบาต] 4. สังขปาลชาดก (524)
(อาฬารดาบสถามว่า)
[182] พวกบุตรนายพรานได้เห็นท่าน
ผู้สมบูรณ์ด้วยพลังและผิวพรรณที่หนทางที่เดินได้คนเดียว
นาคราช ก็ท่านเป็นผู้เจริญแล้วด้วยสิริและปัญญา
ยังบำเพ็ญตบะอยู่เพื่อประโยชน์อะไร
(พญานาคสังขปาละตอบว่า)
[183] ท่านอาฬาระ ข้าพเจ้าบำเพ็ญตบะ
เพราะเหตุแห่งบุตร เพราะเหตุแห่งทรัพย์สมบัติ
หรือแม้เพราะเหตุแห่งอายุก็หาไม่
แต่เพราะข้าพเจ้าปรารถนากำเนิดแห่งมนุษย์
เพราะเหตุนั้น จึงบากบั่นบำเพ็ญตบะ
(อาฬารดาบสถามว่า)
[184] ท่านมีนัยน์ตาแดง มีรัศมีรุ่งเรือง ประดับตบแต่งร่างกาย
ตัดผมและโกนหนวดเรียบร้อย
ลูบไล้ผิวพรรณด้วยดีด้วยจันทน์แดง
ส่องสว่างไปทั่วทิศ ดุจราชาแห่งคนธรรพ์
[185] ท่านเป็นผู้บรรลุเทวฤทธิ์แล้ว มีอานุภาพมาก
พรั่งพร้อมด้วยกามคุณทุกอย่าง
นาคราช ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กับท่านว่า
มนุษยโลกประเสริฐกว่านาคพิภพนี้ เพราะเหตุไร
(พญานาคสังขปาละตอบว่า)
[186] ท่านอาฬาระ นอกจากมนุษยโลกแล้ว
ความบริสุทธิ์หรือความสำรวมไม่มี
ก็ข้าพเจ้าได้กำเนิดมนุษย์แล้ว
จักกระทำที่สุดแห่งชาติและมรณะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :625 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [17. จัตตาลีสนิบาต] 5. จูฬสุตโสมชาดก (525)
(อาฬารดาบสกล่าวว่า)
[187] เป็นเวลาหนึ่งปี เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในสำนักของท่าน
ได้รับการบำรุงด้วยข้าวและน้ำ ท่านนาคินทร์ผู้ประเสริฐ
ข้าพเจ้าจากมนุษยโลกมานาน จะขอลาท่านไป
(พญานาคสังขปาละถามว่า)
[188] บุตร ภรรยา และชนที่ข้าพเจ้าชุบเลี้ยง
ซึ่งข้าพเจ้าพร่ำสอนเป็นนิตย์ว่า พึงบำรุงท่าน
ไม่มีใครสักคนสาปแช่งท่านแลหรือ ท่านอาฬาระ
ก็การได้พบเห็นท่านนับว่าเป็นที่พอใจของข้าพเจ้า
(อาฬารดาบสตอบว่า)
[189] บุตรสุดที่รักพึงได้รับการปฏิบัติ
อยู่ในเรือนมารดาบิดาแม้โดยประการใด
ท่านก็ปฏิบัติข้าพเจ้าในที่นี้แล ประเสริฐกว่าแม้โดยประการนั้น
เพราะจิตของท่านเลื่อมใสในข้าพเจ้า นาคราช
(พญานาคสังขปาละกล่าวว่า)
[190] แก้วมณีสีแดง ซึ่งนำทรัพย์มาให้ได้ของข้าพเจ้ามีอยู่
ท่านจงถือเอาแก้วมณีอันโอฬารไปยังที่อยู่ของตน
ครั้นได้ทรัพย์แล้ว จงเก็บแก้วมณีไว้
(อาฬารดาบสกล่าว 2 คาถาว่า)
[191] ขอถวายพระพรมหาบพิตร กามทั้งหลายแม้เป็นของมนุษย์
อาตมาก็ได้เห็นแล้ว เป็นของไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
เพราะเห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย อาตมาจึงบวชด้วยศรัทธา
[192] ทั้งคนหนุ่มทั้งคนแก่
ย่อมมีกายแตกทำลายไป เหมือนผลไม้หล่นจากต้น
มหาบพิตร อาตมาเห็นข้อปฏิบัติอันไม่ผิดแม้นี้ว่า
ความเป็นสมณะนั่นแลประเสริฐ จึงได้บวช

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :626 }