เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [17. จัตตาลีสนิบาต] 2. สรภังคชาดก (522)
[77] บุคคลใดคิดปัญหาที่ลึกซึ้งได้ด้วยใจ
ไม่ทำกรรมอันหยาบช้าซึ่งหาประโยชน์เกื้อกูลมิได้
ไม่ตัดรอนประโยชน์ที่มาถึงตามกาลให้เสียไป
บัณฑิตเรียกคนเช่นนั้นว่า ผู้มีปัญญา
[78] บุคคลใดเป็นคนกตัญญูกตเวที เป็นปราชญ์
มีกัลยาณมิตร และมีความภักดีมั่นคง
ช่วยกระทำกิจของมิตรที่ตกยากด้วยความเต็มใจ
บัณฑิตเรียกคนเช่นนั้นว่า สัตบุรุษ
[79] บุคคลใดประกอบด้วยคุณสมบัติทั้งปวงเหล่านี้
มีศรัทธา อ่อนโยน จำแนกแจกทานด้วยดี
รู้ความประสงค์ของผู้ขอ สิริย่อมไม่ละคนเช่นนั้น
ผู้มีปกติสงเคราะห์ มีวาจาอ่อนหวาน สละสลวย
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[80] โยมขออนุโมทนาคำสุภาษิตของพระคุณเจ้า
แต่โยมขอถามปัญหาข้ออื่นกับพระคุณเจ้า
ขอพระคุณเจ้าโปรดกล่าวแก้ปัญหานั้น
ศีล 1 สิริ 1 ธรรมของสัตบุรุษ 1 ปัญญา 1
บัณฑิตกล่าวข้อไหนว่า ประเสริฐกว่า
(พระมหาสัตว์สรภังคดาบสตอบว่า)
[81] ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวว่า ปัญญาแลประเสริฐที่สุด
ดุจดวงจันทร์ราชาแห่งนักษัตรประเสริฐกว่าดวงดาวทั้งหลาย
ศีล สิริ และแม้ธรรมของสัตบุรุษย่อมเป็นไปตามบุคคลผู้มีปัญญา
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[82] โยมขออนุโมทนาคำสุภาษิตของพระคุณเจ้า
แต่โยมขอถามปัญหาข้ออื่นกับพระคุณเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :608 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [17. จัตตาลีสนิบาต] 2. สรภังคชาดก (522)
ขอพระคุณเจ้าโปรดกล่าวแก้ปัญหานั้น
บุคคลในโลกนี้กระทำอย่างไร กระทำกรรมอะไร
ประพฤติกรรมอะไร คบหาคนอย่างไร จึงจะได้ปัญญา
บัดนี้ ขอพระคุณเจ้าโปรดบอกปฏิปทาแห่งปัญญาว่า
บุคคลกระทำอย่างไร จึงจะชื่อว่าผู้มีปัญญา
(พระมหาสัตว์สรภังคดาบสกล่าวว่า)
[83] บุคคลควรคบหาท่านผู้เจริญด้วยปัญญา
มีความรู้ละเอียดลออเป็นพหูสูต
ควรศึกษาเล่าเรียน สอบถาม ฟังคำสุภาษิตโดยเคารพ
บุคคลกระทำอย่างนี้ จึงจะชื่อว่าผู้มีปัญญา
[84] ท่านผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นกามคุณ
โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และโดยความเป็นโรค
เมื่อเห็นแจ้งอย่างนี้ จึงละความพอใจในกามทั้งหลาย
ซึ่งเป็นทุกข์เป็นภัยอันใหญ่หลวงเสียได้
[85] เขาปราศจากราคะแล้ว พึงกำจัดโทสะได้
เจริญเมตตาจิตหาประมาณมิได้
วางอาชญาในสัตว์ทุกจำพวก
เป็นผู้ไม่ถูกนินทา เข้าถึงพรหมสถาน
(พระมหาสัตว์สรภังคดาบสทราบว่า พระราชาทั้ง 3 พระองค์ละความกำหนัด
ยินดีในเบญจกามคุณได้แล้ว จึงกล่าวคาถาด้วยอำนาจความร่าเริงของพระราชา
เหล่านั้นว่า)
[86] ขอถวายพระพรมหาบพิตรอัฏฐกะ
การเสด็จมาของพระองค์ ของพระเจ้าภีมรถ
และของพระเจ้ากาลิงคะผู้มีพระยศระบือไปทั่ว
ได้มีความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง
ทุกพระองค์ทรงละกามราคะได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :609 }