เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [17. จัตตาลีสนิบาต] 2. สรภังคชาดก (522)
[72] อนึ่ง พระเจ้าอัชชุนะทรงตกนรกชื่อสัตติสูละ
ทรงมีพระเศียรห้อยลง พระบาทชี้ขึ้นเบื้องบน
เพราะทรงเบียดเบียนพระอังคีรสโคตมฤๅษีผู้มีขันติ
มีตบะ ประพฤติพรหมจรรย์มาช้านาน
[73] อนึ่ง พระราชาพระองค์ใดได้ทรงตัดบรรพชิตผู้กล่าวขันติ
ผู้สงบ ไม่ประทุษร้าย ขาดออกเป็นท่อน ๆ
พระราชาพระองค์นั้นทรงพระนามว่าพระเจ้ากลาพุ
ตกอเวจีมหานรกซึ่งมีความร้อนร้ายแรง
มีเวทนาเผ็ดร้อน น่าหวาดกลัว หมกไหม้อยู่
[74] บัณฑิตได้ฟังเรื่องนรกเหล่านี้
และนรกเหล่าอื่นที่ชั่วช้ากว่านี้ ณ ที่นี่แล้ว
พึงประพฤติธรรมในสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย
ผู้กระทำอย่างนี้ย่อมเข้าถึงแดนสวรรค์
(ท้าวสักกะตรัสถามปัญหา 4 ข้อที่เหลือว่า)
[75] โยมขออนุโมทนาคำสุภาษิตของพระคุณเจ้า
แต่โยมขอถามปัญหาข้ออื่นกับพระคุณเจ้า
ขอพระคุณเจ้าโปรดกล่าวแก้ปัญหานั้น
บัณฑิตเรียกคนเช่นไรว่า มีศีล
เรียกคนเช่นไรว่า มีปัญญา
เรียกคนเช่นไรว่า สัตบุรุษ
สิริย่อมไม่ละคนเช่นไรหนอ
(พระมหาสัตว์สรภังคดาบสตอบปัญหาของท้าวสักกะว่า)
[76] บุคคลใดในโลกนี้ สำรวมกาย วาจา ใจ
ไม่ทำบาปกรรมอะไร ไม่พูดเหลาะแหละเพราะเหตุแห่งตน
บัณฑิตเรียกคนเช่นนั้นว่า ผู้มีศีล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :607 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [17. จัตตาลีสนิบาต] 2. สรภังคชาดก (522)
[77] บุคคลใดคิดปัญหาที่ลึกซึ้งได้ด้วยใจ
ไม่ทำกรรมอันหยาบช้าซึ่งหาประโยชน์เกื้อกูลมิได้
ไม่ตัดรอนประโยชน์ที่มาถึงตามกาลให้เสียไป
บัณฑิตเรียกคนเช่นนั้นว่า ผู้มีปัญญา
[78] บุคคลใดเป็นคนกตัญญูกตเวที เป็นปราชญ์
มีกัลยาณมิตร และมีความภักดีมั่นคง
ช่วยกระทำกิจของมิตรที่ตกยากด้วยความเต็มใจ
บัณฑิตเรียกคนเช่นนั้นว่า สัตบุรุษ
[79] บุคคลใดประกอบด้วยคุณสมบัติทั้งปวงเหล่านี้
มีศรัทธา อ่อนโยน จำแนกแจกทานด้วยดี
รู้ความประสงค์ของผู้ขอ สิริย่อมไม่ละคนเช่นนั้น
ผู้มีปกติสงเคราะห์ มีวาจาอ่อนหวาน สละสลวย
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[80] โยมขออนุโมทนาคำสุภาษิตของพระคุณเจ้า
แต่โยมขอถามปัญหาข้ออื่นกับพระคุณเจ้า
ขอพระคุณเจ้าโปรดกล่าวแก้ปัญหานั้น
ศีล 1 สิริ 1 ธรรมของสัตบุรุษ 1 ปัญญา 1
บัณฑิตกล่าวข้อไหนว่า ประเสริฐกว่า
(พระมหาสัตว์สรภังคดาบสตอบว่า)
[81] ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวว่า ปัญญาแลประเสริฐที่สุด
ดุจดวงจันทร์ราชาแห่งนักษัตรประเสริฐกว่าดวงดาวทั้งหลาย
ศีล สิริ และแม้ธรรมของสัตบุรุษย่อมเป็นไปตามบุคคลผู้มีปัญญา
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[82] โยมขออนุโมทนาคำสุภาษิตของพระคุณเจ้า
แต่โยมขอถามปัญหาข้ออื่นกับพระคุณเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :608 }