เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [17. จัตตาลีสนิบาต] 2. สรภังคชาดก (522)
[58] บรรดาฤๅษีเหล่านี้ผู้เป็นบัณฑิต ณ ที่นี่
ใครเล่าหนอถูกถามแล้วจักพยากรณ์ปัญหาอันละเอียดสุขุม
ของพระราชาผู้เป็นใหญ่กว่ามนุษย์ทั้ง 3 พระองค์
และของท้าววาสวะจอมเทพได้
(หมู่ฤๅษีได้ฟังดังนั้นแล้วจึงกล่าวแนะนำว่า)
[59] ฤๅษีตนนี้ชื่อสรภังคะ มีตบะ เว้นจากเมถุนธรรมตั้งแต่เกิด
เป็นบุตรของปุโรหิตาจารย์ ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอันดี
ท่านจักพยากรณ์ปัญหาทั้งหลายของพระราชาเหล่านั้นได้
(อนุสิสสดาบสยอมรับไหว้สรภังคดาบสแล้วเมื่อจะโอวาท จึงกล่าวว่า)
[60] ท่านโกณฑัญญะ นิมนต์ท่านพยากรณ์ปัญหาทั้งหลายเถิด
ฤๅษีทั้งหลายผู้เป็นคนดีขอร้องท่าน
ท่านโกณฑัญญะ ภาระนี้ย่อมมาถึงท่านผู้เจริญด้วยปัญญา
นี้เป็นธรรมดาในมนุษย์ทั้งหลาย
(ต่อมาพระมหาบุรุษสรภังคดาบสเมื่อให้โอกาส จึงกล่าวว่า)
[61] มหาบพิตรผู้เจริญทั้งหลาย อาตมาให้โอกาส
ขอเชิญตรัสถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งตามพระทัยปรารถนาเถิด
เพราะอาตมารู้จักทั้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยตนเอง
จักพยากรณ์ปัญหาข้อนั้น ๆ ถวายมหาบพิตร
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า)
[62] ลำดับนั้นแล ท้าวมัฆวานสักกเทวราช องค์ปุรินททะทรงเห็น
ประโยชน์ได้ตรัสถามปัญหาข้อแรกตามที่พระทัยปรารถนาว่า
[63] ในกาลบางคราว บุคคลฆ่าอะไร จึงจะไม่เศร้าโศก
ฤๅษีทั้งหลายสรรเสริญการละอะไร
บุคคลควรอดทนคำหยาบคายที่ใครในโลกนี้กล่าว
นิมนต์บอกเนื้อความข้อนั้นแก่โยมเถิด ท่านโกณฑัญญะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :604 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [17. จัตตาลีสนิบาต] 2. สรภังคชาดก (522)
(ต่อแต่นั้นพระมหาสัตว์สรภังคดาบสเมื่อจะตอบปัญหา จึงกล่าวว่า)
[64] ในกาลบางคราว บุคคลฆ่าความโกรธเสียได้จึงไม่เศร้าโศก
ฤๅษีทั้งหลายสรรเสริญการละความลบหลู่
บุคคลควรอดทนคำหยาบคายที่ทุกคนกล่าว
สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวความอดทนนั้นว่า ยอดเยี่ยม
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[65] คำของบุคคลทั้ง 2 จำพวก คือ
คนที่เสมอกัน 1 คนที่ประเสริฐกว่า 1
บุคคลอาจจะอดกลั้นได้
แต่บุคคลจะพึงอดทนถ้อยคำของคนที่เลวกว่าได้อย่างไรหนอ
นิมนต์บอกเนื้อความข้อนั้นแก่โยมเถิด ท่านโกณฑัญญะ
(สรภังคดาบสตอบว่า)
[66] แท้จริง บุคคลอดทนถ้อยคำของคนประเสริฐกว่าได้
เพราะความกลัว
อดทนถ้อยคำของคนเสมอกันได้เพราะการแข่งขันเป็นเหตุ
แต่ผู้ใดพึงอดทนถ้อยคำของคนที่เลวกว่าในโลกนี้ได้
ความอดทนนั้นของบุคคลนั้นสัตบุรุษกล่าวว่า ยอดเยี่ยม
(ต่อมาพระมหาสัตว์สรภังคดาบสตอบท้าวสักกะแล้ว เมื่อจะประกาศสภาพที่
สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ประเสริฐเป็นต้นเป็นสภาพที่รู้ได้ยากด้วยอาการเพียงเห็นรูปร่าง
เว้นแต่การอยู่ร่วมกัน จึงกล่าวคาถาว่า)
[67] สภาวะที่ปกปิดไว้ด้วยอิริยาบถทั้ง 4
บุคคลจะรู้ได้อย่างไรว่า ประเสริฐกว่า เสมอกัน หรือเลวกว่า
เพราะว่าสัตบุรุษทั้งหลายย่อมเที่ยวไปด้วยสภาวะที่ผิดรูป
เพราะเหตุนั้น บุคคลควรอดทนถ้อยคำของคนทั้งปวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :605 }