เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [17. จัตตาลีสนิบาต] 2. สรภังคชาดก (522)
(พระโพธิสัตว์กล่าวคาถาแสดงจริยธรรม 10 ประการนี้แล้วจึงโอวาทให้ยิ่งขึ้น
ไปว่า)
[49] ข้อความเหล่านั้นที่ข้าพระองค์กล่าวแก้ในปัญหาของเสด็จพ่อ
นั้นแลเป็นวัตตบท ข้อนี้เป็นอนุสาสนีสำหรับเสด็จพ่อ
ขอเสด็จพ่อโปรดทรงคบหาคนมีปัญญา จงทรงเป็นผู้มีกัลยาณธรรม
ทรงทราบความข้อนั้นด้วยพระองค์เองแล้ว
โปรดทรงปฏิบัติให้ครบถ้วนเถิด
เตสกุณชาดกที่ 1 จบ

2. สรภังคชาดก (522)
ว่าด้วยสรภังคดาบสแก้ปัญหา
(อนุสิสสดาบสถือหม้อจะไปตักน้ำได้พบพระราชา 3 พระองค์ จึงทูลถามว่า)
[50] ท่านทั้งหลายเป็นใครกันหนอ ประดับเครื่องอลังการ
สวมใส่ต่างหู นุ่งห่มเรียบร้อย เหน็บพระขรรค์มีด้ามประดับ
ด้วยแก้วไพฑูรย์และแก้วมุกดา ยืนอยู่บนรถอย่างองอาจ
ในมนุษยโลกเขารู้จักพวกท่านว่าอย่างไร
(ในพระราชาทั้ง 3 องค์ พระเจ้าอัฏฐกะตรัสกับท่านอนุสิสสดาบสว่า)
[51] ข้าพเจ้าชื่ออัฏฐกะ ท่านผู้นี้คือพระเจ้าภีมรถ
ส่วนท่านผู้นี้คือพระเจ้ากาลิงคะผู้มีพระเกียรติยศระบือไปทั่ว
พวกข้าพเจ้ามา ณ ที่นี่เพื่อจะเยี่ยมฤๅษีทั้งหลาย
ผู้มีความสำรวมเป็นอันดี และเพื่อที่จะถามปัญหา
(อนุสิสสดาบสปฏิสันถารกับพระราชาแล้วกราบทูลท้าวสักกเทวราชผู้เสด็จมา
เยี่ยมว่า)
[52] ท่านยืนอยู่กลางหาวราวกะพระจันทร์เพ็ญ
ลอยเด่นอยู่ท่ามกลางเวหาในวันขึ้น 15 ค่ำ
ท่านผู้มีคุณน่าบูชา ข้าพเจ้าขอถามท่านผู้มีอานุภาพมากว่า
ในมนุษยโลกเขารู้จักท่านว่าอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :602 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [17. จัตตาลีสนิบาต] 2. สรภังคชาดก (522)
(ท้าวสักกเทวราชสดับดังนั้นแล้วจึงตรัสว่า)
[53] ท่านผู้ใดในเทวโลกเขาเรียกกันว่า สุชัมบดี
ท่านผู้นั้นในมนุษยโลกเขาเรียกกันว่า มัฆวาน
ข้าพเจ้านั้นเป็นเทพราชามาถึงที่นี้ในวันนี้
เพื่อจะเยี่ยมฤๅษีทั้งหลายผู้มีความสำรวมเป็นอันดี
(ท้าวสักกเทวราชเสด็จลงแล้วเข้าไปหาหมู่ฤๅษี ยืนประคองอัญชลีไหว้อยู่ ตรัสว่า)
[54] ฤๅษีของพวกเรามีฤทธิ์มาก ประกอบด้วยคุณคือฤทธิ์
ปรากฏในที่ไกล ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส
ขอนมัสการพระคุณเจ้าผู้ประเสริฐกว่ามนุษย์ทั้งหลายในมนุษยโลกนี้
(ต่อมาอนุสิสสดาบสเห็นท้าวสักกเทวราชประทับนั่งใต้ลมของหมู่ฤๅษี จึง
กราบทูลว่า)
[55] กลิ่นของฤๅษีผู้ที่บวชมานานย่อมออกจากกายฟุ้งไปตามลม
ขอถวายพระพร ท้าวสหัสสนัยน์เทวราช
ขอมหาบพิตรเสด็จถอยไปจากที่นี่
เพราะกลิ่นของฤๅษีทั้งหลายไม่สะอาด
(ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า)
[56] กลิ่นของฤๅษีผู้ที่บวชมานาน
ขอจงออกจากกายฟุ้งไปตามลมเถิด
พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายจำนงหวังกลิ่นนั้น
ดุจพวงบุปผชาติอันวิจิตรมีกลิ่นหอม
เพราะเทวดาทั้งหลายมิได้มีความสำคัญกลิ่นนี้ว่าปฏิกูล
(อนุสิสสดาบสลุกจากอาสนะ ขอโอกาสกับหมู่ฤๅษี กล่าวว่า)
[57] ท้าวมัฆวาน สุชัมบดีเทวราช องค์ปุรินททะจอมเทพ
ผู้เป็นใหญ่กว่าภูตพระองค์นั้น ทรงพระยศ ย่ำยีหมู่อสูร
ทรงรอคอยโอกาสเพื่อจะตรัสถามปัญหา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :603 }