เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [17. จัตตาลีสนิบาต] 1. เตสกุณชาดก (521)
[21] อนึ่ง พระองค์อย่าทรงกระทำ
หรือตรัสใช้ให้ผู้อื่นกระทำราชกิจด้วยความเร่งด่วน
เพราะการงานที่ทำด้วยความเร่งด่วนไม่ดีเลย
คนโง่ย่อมเดือดร้อนในภายหลังเพราะการกระทำเช่นนั้น
[22] ขอพระทัยของพระองค์อย่าทรงล่วงเลยกุศล
ขอพระองค์อย่าทรงปล่อยพระทัยให้ขุ่นเคืองเกรี้ยวกราดนัก
เพราะว่าสกุลทั้งหลายที่มั่งคั่งมากมาย
ถึงความไม่เป็นสกุลเพราะความโกรธ
[23] ขอเดชะเสด็จพ่อ ขอพระองค์อย่าทรงให้ประชาชน
หยั่งลงเพื่อความหายนะ เพราะเข้าพระทัยว่า เราเป็นใหญ่
ขอพวกสตรีและบุรุษของพระองค์อย่าได้มีความทุกข์เลย
[24] พระราชาผู้ปราศจากอาการขนพองสยองเกล้า
มีพระทัยใฝ่หาแต่กาม โภคะทั้งปวงจักพินาศไป
ข้อนั้นท่านกล่าวว่า เป็นความทุกข์ของพระราชา
[25] ข้อความเหล่านั้นที่หม่อมฉันกล่าวแก้ในปัญหาของเสด็จพ่อ
นั้นเป็นวัตตบท ข้อนี้แลเป็นอนุสาสนีสำหรับเสด็จพ่อ
ขอเดชะพระมหาราช บัดนี้
เสด็จพ่อพึงทรงขยันหมั่นบำเพ็ญบุญ
อย่าทรงเป็นนักเลง อย่าทรงล้างผลาญพระราชทรัพย์
ควรทรงเป็นผู้มีศีล เพราะคนทุศีลต้องตกนรก
(พระราชาตรัสถามปัญหากับนกชัมพุกบัณฑิตว่า)
[26] พ่อชัมพุกะ พ่อได้ถามโกสิยโคตรแล้ว
และแม่กุณฑลินีพ่อก็ได้ถามแล้วเช่นกัน
คราวนี้ พ่อจงบอกกำลังอันสูงสุดกว่ากำลังทั้งหลายบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :598 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [17. จัตตาลีสนิบาต] 1. เตสกุณชาดก (521)
(นกชัมพุกบัณฑิตแสดงธรรมแก่พระราชาว่า)
[27] ในโลกมีกำลังอยู่ 5 ประการ1มีอยู่ในบุรุษ
ผู้มีอัธยาศัยกว้างขวาง บรรดากำลังทั้ง 5 ประการนั้น
ขึ้นชื่อว่ากำลังแขนท่านกล่าวว่า เป็นกำลังสุดท้าย
[28] ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงพระชนมายุยืนนาน
ส่วนกำลังแห่งโภคะท่านกล่าวว่า เป็นกำลังที่ 2
และกำลังแห่งอำมาตย์ท่านกล่าวว่า เป็นกำลังที่ 3
[29] อนึ่ง กำลังแห่งชาติสกุลอันยิ่งนั้น
เป็นกำลังที่ 4 อย่างไม่ต้องสงสัย
กำลังทั้งหมด 4 ประการเหล่านั้นบัณฑิตย่อมยึดถือไว้ได้
[30] กำลังปัญญานั้นเป็นกำลังประเสริฐสุด
เป็นยอดกำลังกว่ากำลังทั้งหลาย
บัณฑิตผู้มีกำลังปัญญาสนับสนุนย่อมประสบประโยชน์
[31] แม้ถึงคนมีปัญญาทรามจะได้แผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ก็จริง
คนอื่นผู้มีปัญญาย่อมกดขี่เขาซึ่งไม่ประสงค์จะให้
ยึดครองแผ่นดินนั้นเสีย
[32] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งชนชาวกาสี
ถึงกษัตริย์แม้อุบัติในสกุลอันสูงยิ่ง
ได้ราชสมบัติแล้ว แต่มีปัญญาทราม
จะดำรงพระชนม์ชีพอยู่ด้วยโภคะแม้ทั้งปวงหาได้ไม่
[33] ปัญญาเท่านั้นเป็นเครื่องวินิจฉัยเรื่องที่ได้ฟัง
ปัญญาเป็นเหตุให้เกียรติยศชื่อเสียงเจริญ
นรชนในโลกนี้ประกอบด้วยปัญญาแล้ว
แม้เมื่อเกิดทุกข์ก็ประสบสุขได้

เชิงอรรถ :
1 กำลัง 5 คือ (1) กำลังกาย (2) กำลังโภคทรัพย์ (3) กำลังอำมาตย์ (4) กำลังชาติตระกูล (กษัตริย์)
(5) กำลังปัญญา (ขุ.ชา.อ. 7/27/277)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :599 }