เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [17. จัตตาลีสนิบาต] 1. เตสกุณชาดก (521)
(พระราชาตรัสถามราชธรรมกับนางนกกุณฑลินีว่า)
[14] แม่กุณฑลินี สกุณีผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของผู้มีบรรดาศักดิ์
เจ้าคงจะเข้าใจปัญหา กิจอะไรบุคคลผู้ประสงค์จะครอบครอง
ราชสมบัติกระทำแล้วเป็นกิจอันประเสริฐ
(นางนกกุณฑลินีกราบทูลว่า)
[15] ขอเดชะเสด็จพ่อ มีเหตุอยู่ 2 ประการเท่านั้น
ที่ประโยชน์สุขทั้งปวงดำรงมั่นอยู่ได้ คือ
การได้ลาภที่ยังไม่ได้ 1 การตามรักษาลาภที่ได้แล้ว 1
[16] ขอเดชะเสด็จพ่อ พระองค์โปรดทรงรู้จักหมู่อำมาตย์
ผู้เป็นนักปราชญ์ ฉลาดในประโยชน์
ไม่ใช่นักเลงการพนัน ไม่ใช่คนปลิ้นปล้อน
ไม่ใช่นักเลงล้างผลาญเถิด พระเจ้าข้า
[17] ขอเดชะเสด็จพ่อ อำมาตย์คนใดพึงรักษาทรัพย์
ที่พระองค์พึงมีไว้ได้เหมือนนายสารถียึดรถ
อำมาตย์ผู้นั้นพระองค์โปรดทรงให้ทำราชกิจเถิด
[18] พระราชาพึงสงเคราะห์ชนฝ่ายในให้ดี
ตรวจตราราชทรัพย์ด้วยพระองค์เอง
ไม่พึงฝังขุมทรัพย์ และให้กู้หนี้โดยทรงไว้วางพระทัยผู้อื่น
[19] พระราชาควรทราบความเจริญและความเสื่อมด้วยพระองค์เอง
ควรทรงทราบสิ่งที่ทรงกระทำแล้วและยังมิได้ทรงกระทำ
ด้วยพระองค์เอง พึงข่มคนที่ควรข่ม ยกย่องคนที่ควรยกย่อง
[20] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นจอมทัพรถ
ขอพระองค์ทรงโปรดพร่ำสอนสิ่งที่เป็นประโยชน์
แก่ชาวชนบทด้วยพระองค์เอง
ข้าราชการผู้ไม่มีธรรมที่ทรงใช้สอยอย่าได้ทำพระราชทรัพย์
และรัฐสีมาของพระองค์ให้พินาศเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :597 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [17. จัตตาลีสนิบาต] 1. เตสกุณชาดก (521)
[21] อนึ่ง พระองค์อย่าทรงกระทำ
หรือตรัสใช้ให้ผู้อื่นกระทำราชกิจด้วยความเร่งด่วน
เพราะการงานที่ทำด้วยความเร่งด่วนไม่ดีเลย
คนโง่ย่อมเดือดร้อนในภายหลังเพราะการกระทำเช่นนั้น
[22] ขอพระทัยของพระองค์อย่าทรงล่วงเลยกุศล
ขอพระองค์อย่าทรงปล่อยพระทัยให้ขุ่นเคืองเกรี้ยวกราดนัก
เพราะว่าสกุลทั้งหลายที่มั่งคั่งมากมาย
ถึงความไม่เป็นสกุลเพราะความโกรธ
[23] ขอเดชะเสด็จพ่อ ขอพระองค์อย่าทรงให้ประชาชน
หยั่งลงเพื่อความหายนะ เพราะเข้าพระทัยว่า เราเป็นใหญ่
ขอพวกสตรีและบุรุษของพระองค์อย่าได้มีความทุกข์เลย
[24] พระราชาผู้ปราศจากอาการขนพองสยองเกล้า
มีพระทัยใฝ่หาแต่กาม โภคะทั้งปวงจักพินาศไป
ข้อนั้นท่านกล่าวว่า เป็นความทุกข์ของพระราชา
[25] ข้อความเหล่านั้นที่หม่อมฉันกล่าวแก้ในปัญหาของเสด็จพ่อ
นั้นเป็นวัตตบท ข้อนี้แลเป็นอนุสาสนีสำหรับเสด็จพ่อ
ขอเดชะพระมหาราช บัดนี้
เสด็จพ่อพึงทรงขยันหมั่นบำเพ็ญบุญ
อย่าทรงเป็นนักเลง อย่าทรงล้างผลาญพระราชทรัพย์
ควรทรงเป็นผู้มีศีล เพราะคนทุศีลต้องตกนรก
(พระราชาตรัสถามปัญหากับนกชัมพุกบัณฑิตว่า)
[26] พ่อชัมพุกะ พ่อได้ถามโกสิยโคตรแล้ว
และแม่กุณฑลินีพ่อก็ได้ถามแล้วเช่นกัน
คราวนี้ พ่อจงบอกกำลังอันสูงสุดกว่ากำลังทั้งหลายบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :598 }