เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [17. จัตตาลีสนิบาต] 1. เตสกุณชาดก (521)
[6] ขอเดชะเสด็จพ่อ เทพธิดาชื่อสิริและอลักขีถูกสุจิวารเศรษฐีถาม
ได้ตอบว่า ดิฉันชื่นชมยินดีคนที่ขยันหมั่นเพียรและไม่ริษยา
[7] ขอเดชะมหาราช ส่วนอลักขีเทพธิดาเป็นคนกาฬกัณณี
หักกุศลจักร ย่อมชื่นชมยินดีคนริษยา คนใจร้าย
มักทำลายกุศลกรรม
[8] ขอเดชะมหาราช พระองค์นั้น โปรดทรงมีพระหทัยดี
ในชนทั้งปวง จงทรงพิทักษ์รักษาชนทั้งปวง
โปรดทรงขับนางเทพธิดาที่อับโชคออกไป
ขอพระราชนิเวศน์จงเป็นที่อยู่ของนางเทพธิดาที่อำนวยโชคเท่านั้นเถิด
[9] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งชนชาวกาสี
เพราะว่าบุรุษผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาและความเพียรนั้น
มีอัธยาศัยกว้างขวาง ย่อมตัดรากเง่าและยอดของศัตรูได้ขาด
[10] แท้จริง แม้ท้าวสักกะผู้เป็นเจ้าแห่งภูต
ก็มิได้ทรงประมาทในความขยันหมั่นเพียร
ท้าวเธอทรงกระทำความเพียรในกัลยาณธรรม
ทรงสนพระทัยในความขยันหมั่นเพียร
[11] คนธรรพ์ พรหม เทวดาทั้งหลายที่มีชีวิตเกี่ยวเนื่องกับ
พระราชาเหล่านั้น เมื่อพระองค์ทรงขยันหมั่นเพียร
ไม่ประมาท ก็ย่อมจะคล้อยตาม
[12] ขอเดชะเสด็จพ่อ ขอเสด็จพ่ออย่าทรงประมาท
อย่าทรงกริ้ว แล้วตรัสสั่งให้ทำราชกิจ
อนึ่ง โปรดทรงพยายามในราชกิจ
เพราะคนไม่เกียจคร้านย่อมประสบความสุข
[13] ข้อความเหล่านั้นที่ข้าพระองค์กล่าวแก้ในปัญหาของเสด็จพ่อ
นั้นแลเป็นวัตตบท ข้อนี้แลเป็นอนุสาสนีสำหรับเสด็จพ่อ
ที่สามารถช่วยมิตรให้ถึงความสุขและให้ทุกข์เกิดแก่ศัตรูได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :596 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [17. จัตตาลีสนิบาต] 1. เตสกุณชาดก (521)
(พระราชาตรัสถามราชธรรมกับนางนกกุณฑลินีว่า)
[14] แม่กุณฑลินี สกุณีผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของผู้มีบรรดาศักดิ์
เจ้าคงจะเข้าใจปัญหา กิจอะไรบุคคลผู้ประสงค์จะครอบครอง
ราชสมบัติกระทำแล้วเป็นกิจอันประเสริฐ
(นางนกกุณฑลินีกราบทูลว่า)
[15] ขอเดชะเสด็จพ่อ มีเหตุอยู่ 2 ประการเท่านั้น
ที่ประโยชน์สุขทั้งปวงดำรงมั่นอยู่ได้ คือ
การได้ลาภที่ยังไม่ได้ 1 การตามรักษาลาภที่ได้แล้ว 1
[16] ขอเดชะเสด็จพ่อ พระองค์โปรดทรงรู้จักหมู่อำมาตย์
ผู้เป็นนักปราชญ์ ฉลาดในประโยชน์
ไม่ใช่นักเลงการพนัน ไม่ใช่คนปลิ้นปล้อน
ไม่ใช่นักเลงล้างผลาญเถิด พระเจ้าข้า
[17] ขอเดชะเสด็จพ่อ อำมาตย์คนใดพึงรักษาทรัพย์
ที่พระองค์พึงมีไว้ได้เหมือนนายสารถียึดรถ
อำมาตย์ผู้นั้นพระองค์โปรดทรงให้ทำราชกิจเถิด
[18] พระราชาพึงสงเคราะห์ชนฝ่ายในให้ดี
ตรวจตราราชทรัพย์ด้วยพระองค์เอง
ไม่พึงฝังขุมทรัพย์ และให้กู้หนี้โดยทรงไว้วางพระทัยผู้อื่น
[19] พระราชาควรทราบความเจริญและความเสื่อมด้วยพระองค์เอง
ควรทรงทราบสิ่งที่ทรงกระทำแล้วและยังมิได้ทรงกระทำ
ด้วยพระองค์เอง พึงข่มคนที่ควรข่ม ยกย่องคนที่ควรยกย่อง
[20] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นจอมทัพรถ
ขอพระองค์ทรงโปรดพร่ำสอนสิ่งที่เป็นประโยชน์
แก่ชาวชนบทด้วยพระองค์เอง
ข้าราชการผู้ไม่มีธรรมที่ทรงใช้สอยอย่าได้ทำพระราชทรัพย์
และรัฐสีมาของพระองค์ให้พินาศเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :597 }