เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [16. ติงสตินิบาต] 7. ทกรักขสชาดก (517)
[237] อนุชานั้นประเสริฐกว่านายขมังธนูทั้งหลาย
กล้าหาญ และมีปัญญาเฉียบแหลม ยังเป็นเด็ก
แต่ดูหมิ่นโยมว่า พระราชาพระองค์นี้ทรงเป็นสุขเพราะเรา
[238] พระแม่เจ้า เขาไม่มาแม้สู่ที่บำรุงของโยมเหมือนก่อน
เพราะโทษนั้น โยมจะพึงให้อนุชาแก่ผีเสื้อน้ำ
(เภรีปริพาชิกาบอกคุณของพระสหายนั้นว่า)
[239] มหาบพิตรและธนุเสขกุมาร
ทั้ง 2 กำเนิดราตรีเดียวกัน
ทั้ง 2 เกิดในพระนครนี้ เป็นชาวปัญจาลนคร
เป็นสหายกันมีวัยเสมอกัน
[240] กุมารนั้นติดตามมหาบพิตรท่องเที่ยวไป
ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับมหาบพิตร
มีความขยันขวนขวายในราชกิจทุกอย่างของมหาบพิตร
ทั้งกลางวันและกลางคืน
เพราะโทษอะไร มหาบพิตรจึงจะประทานสหายให้ผีเสื้อน้ำเสียเล่า
(พระราชาตรัสโทษของพระสหายว่า)
[241] พระแม่เจ้า ธนุเสขกุมารนี้หัวเราะดังกับโยม
เมื่อท่องเที่ยวไปกับโยม
แม้วันนี้เขาก็ยังหัวเราะดังเกินขอบเขตแบบนั้น
[242] พระแม่เจ้า โยมแม้กำลังปรึกษากับพระเทวีอยู่ในที่รโหฐาน
ธนุเสขกุมารยังมิทันบอกกล่าว
ยังมิทันให้โยมรู้ตัวก่อน ก็พรวดพราดเข้าไป
[243] เขาได้ช่อง ได้โอกาส
เพราะโทษนั้น โยมจึงจะให้สหายผู้ไม่มีความละอาย
ไม่เอื้อเฟื้อแก่ผีเสื้อน้ำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :574 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [16. ติงสตินิบาต] 7. ทกรักขสชาดก (517)
(เภรีปริพาชิกาบอกคุณของเกวัฏฏปุโรหิตว่า)
[244] ท่านเกวัฏฏปุโรหิตเป็นผู้ฉลาดในนิมิตทุกอย่าง
รู้สำเนียงเสียงร้องของสัตว์ทั้งปวง เชี่ยวชาญในคัมภีร์พระเวท
เชี่ยวชาญในเรื่องลางบอกเหตุ ในความฝัน
ชำนาญในการหาฤกษ์ยาม ในการเคลื่อนพลและเข้าประชิด
[245] สามารถรู้โทษและคุณทั้งในภาคพื้นดินและอากาศ
เป็นผู้ฉลาดในคลองแห่งนักษัตร
เพราะโทษอะไร มหาบพิตรจึงจะประทานปุโรหิตพราหมณ์
ให้แก่ผีเสื้อน้ำเสียเล่า
(พระราชาตรัสโทษของปุโรหิตพราหมณ์ว่า)
[246] พระแม่เจ้า แม้ท่ามกลางบริษัท
ปุโรหิตพราหมณ์ก็ลืมตาจ้องมองโยม
เพราะเหตุนั้น โยมจะให้ปุโรหิตผู้หยาบช้า
คล้ายกับเลิกคิ้วมองดูโยมแก่ผีเสื้อน้ำเสีย
(เภรีปริพาชิกาทูลถามต่อไปอีกว่า)
[247] พระองค์ทรงครอบครองแผ่นดินมีสมุทรเป็นขอบเขต
มีสาครล้อมรอบประดุจต่างหู ทรงมีหมู่อำมาตย์แวดล้อม
[248] ทรงมีแคว้นกว้างใหญ่ไพศาล
มีมหาสมุทรทั้ง 4 เป็นขอบเขต
ทรงพิชิตสงคราม มีพลานุภาพมาก
ทรงเป็นเอกราชเหนือพื้นปฐพี
มหาบพิตรทรงมีพระอิสริยยศอันไพบูลย์
[249] ทรงมีเหล่านารีจากชนบทต่าง ๆ ถึง 16,000 นาง
ล้วนประดับด้วยแก้วมุกดาและต่างหูแก้วมณี
งามเปรียบได้กับเทพกัญญา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :575 }