เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [16. ติงสตินิบาต] 5. สัมภวชาดก (515)
[164] สัมภวกุมารถึงยังเป็นเด็กก็ฉันนั้น เพราะประกอบด้วยปัญญา
ท่านยังไม่ได้ถามสัมภวกุมารก่อนแล้วอย่าเพิ่งเข้าใจเธอว่าเป็นเด็ก
พราหมณ์ ท่านถามสัมภวกุมารแล้วพึงรู้อรรถและธรรมได้
[165] ท่านพราหมณ์ ไฟป่ามีเปลวไฟเป็นช่อ เรืองโรจน์
ลุกโพลงอยู่ที่กอไม้ในป่า ไม่อิ่มต่อเชื้อเพลิง มีทางดำ
[166] กินเปรียงเป็นอาหาร มีควันเป็นธง
ไหม้ลามจนถึงยอดไพรสณฑ์ มีเชื้อไฟเพียงพอ
โชติช่วงอยู่บนยอดภูเขาในเวลากลางคืนฉันใด
[167] สัมภวกุมารถึงยังเป็นเด็กก็ฉันนั้น เพราะประกอบด้วยปัญญา
ท่านยังไม่ได้ถามสัมภวกุมารก่อนแล้วอย่าเพิ่งเข้าใจเธอว่าเป็นเด็ก
พราหมณ์ ท่านถามสัมภวกุมารแล้วพึงรู้อรรถและธรรมได้
[168] ม้าดีจะรู้ได้เพราะความว่องไว
โคพลิพัทท์จะรู้ได้ในเมื่อมีภาระที่จะต้องลากไป
แม่โคนมจะรู้ได้เพราะน้ำนม และบัณฑิตจะรู้ได้เมื่อเจรจาฉันใด
[169] สัมภวกุมารถึงยังเป็นเด็กก็ฉันนั้น เพราะประกอบด้วยปัญญา
ท่านยังไม่ได้ถามสัมภวกุมารก่อนแล้วอย่าเพิ่งเข้าใจเธอว่าเป็นเด็ก
พราหมณ์ ท่านถามสัมภวกุมารแล้วพึงรู้อรรถและธรรมได้
(พระศาสดาเมื่อทรงเปิดเผยความนั้น จึงตรัสว่า)
[170] มหาพราหมณ์ภารทวาชะนั้นไปถึงสำนักสัมภวกุมารแล้ว
ได้เห็นเขากำลังเล่นอยู่นอกบ้าน
(สุจีรตพราหมณ์ได้ถามปัญหาว่า)
[171] เราถูกพระเจ้าโกรัพยะผู้ทรงยศส่งมาเป็นทูต
พระเจ้าโกรัพยยุธิฏฐิละได้ตรัสอย่างนี้ว่า
ท่านพึงถามอรรถและธรรม พ่อหนูสัมภวะ ลุงถามเจ้าแล้ว
ขอเจ้าจงบอกอรรถและธรรมนั้นด้วยเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :565 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [16. ติงสตินิบาต] 6. มหากปิชาดก (516)
(สัมภวกุมารกล่าวว่า)
[172] เอาเถิด ข้าพเจ้าจักบอกลุงตามอย่างคนที่ฉลาด
ก็พระราชาย่อมจะทรงทราบปัญหานั้นได้
แต่จะทรงกระทำหรือไม่เท่านั้น
(และเมื่อจะบอกปัญหาจึงกล่าวว่า)
[173] ท่านพราหมณ์สุจีรตะ ใคร ๆ ถูกพระราชาตรัสถามแล้ว
พึงกราบทูลราชกิจที่จะทำในวันนี้ว่า พึงทำในวันพรุ่งนี้
ขอพระเจ้ายุธิฏฐิละอย่าทรงเชื่อฟังยับยั้งอยู่เลยในเมื่อประโยชน์เกิดขึ้น
[174] ท่านพราหมณ์สุจีรตะ ใคร ๆ ถูกพระราชาตรัสถามแล้ว
พึงกราบทูลปัญหาที่เป็นไปภายในเท่านั้น
ไม่พึงให้ทรงดำเนินไปสู่หนทางที่ชั่วดุจคนหลงหาความคิดมิได้
[175] พระราชาไม่ควรลืมตน ไม่ควรประพฤติอธรรม
ไม่ควรหยั่งลงไปในลัทธิที่ผิด ไม่พึงประกอบในสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์
[176] ขัตติยราชาพระองค์ใดทรงรู้จักทำเหตุเหล่านี้
ขัตติยราชาพระองค์นั้นย่อมทรงเจริญทุกเมื่อเหมือนดวงจันทร์ข้างขึ้น
[177] พระองค์ย่อมทรงเป็นที่รักแห่งหมู่พระญาติ
และทรงรุ่งโรจน์ในหมู่มิตร ทรงมีพระปรีชา
เมื่อพระวรกายแตกทำลายไป จะทรงเข้าถึงโลกสวรรค์
สัมภวชาดกที่ 5 จบ

6. มหากปิชาดก (516)
ว่าด้วยพญาวานร
(พระศาสดาทรงประกาศเนื้อความนี้ว่า)
[178] ได้มีพระราชาแห่งชนชาวกาสี ทรงผดุงรัฐให้เจริญ
ในกรุงพาราณสี แวดล้อมด้วยมิตรและอำมาตย์
ได้เสด็จไปยังมิคาชินอุทยาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :566 }