เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [16. ติงสตินิบาต] 5. สัมภวชาดก (515)
(พระศาสดาเมื่อทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า)
[148] มหาพราหมณ์ภารทวาชะนั้นได้ไปถึงสำนักภัทรการแล้ว
ได้เห็นเขานั่งอยู่ในเรือนของตน
(สุจีรตพราหมณ์จึงกล่าวว่า)
[149] เราถูกพระเจ้าโกรัพยะผู้ทรงยศส่งมาเป็นทูต
พระเจ้าโกรัพยยุธิฏฐิละได้ตรัสอย่างนี้ว่า
ท่านพึงถามอรรถและธรรม ภัทรการหลานรัก
เจ้าจงบอกอรรถและธรรมนั้นแก่ลุงเถิด
(ภัทรการพราหมณ์ไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้ จึงส่งเขาไปยังสำนักน้องชาย
ชื่อสัญชัยกุมารว่า)
[150] ข้าพเจ้าเหมือนคนละทิ้งหาบเนื้อติดตามเหี้ยอยู่
ถึงถูกท่านถามถึงอรรถและธรรม ก็ไม่อาจจะบอกแก่ท่านได้
[151] ท่านพราหมณ์สุจีรตะ ผมมีน้องชายชื่อว่าสัญชัย
เขาเป็นน้องชายของผม ท่านจงไปถามอรรถและธรรมกับเขาเถิด
(พระศาสดาทรงประกาศความนั้นว่า)
[152] มหาพราหมณ์ภารทวาชะนั้นไปถึงสำนักสัญชัยแล้ว
ได้เห็นเขานั่งอยู่ในเรือนของตนจึงกล่าวว่า
[153] เราถูกพระเจ้าโกรัพยะผู้ทรงยศส่งมาเป็นทูต
พระเจ้าโกรัพยยุธิฏฐิละได้ตรัสอย่างนี้ว่า
ท่านพึงถามอรรถและธรรม สัญชัยหลานรัก ลุงถามแล้ว
ขอเจ้าจงบอกอรรถและธรรมนั้นด้วยเถิด
(สัญชัยกุมารกล่าวว่า)
[154] ท่านพราหมณ์สุจีรตะ พญามัจจุราชย่อมกลืนกินข้าพเจ้าทุกเมื่อ
ทั้งเวลาเย็นและเวลาเช้า ข้าพเจ้าถูกท่านถามอรรถและธรรม
ก็ไม่อาจจะบอกแก่ท่านได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :563 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [16. ติงสตินิบาต] 5. สัมภวชาดก (515)
[155] ท่านพราหมณ์สุจีรตะ ข้าพเจ้ามีน้องชายชื่อว่าสัมภวะ
เขาเป็นน้องชายของข้าพเจ้า ขอท่านจงไปถามอรรถและธรรมกับเขาเถิด
(สุจีรตพราหมณ์กล่าวว่า)
[156] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์หนอ
ปัญหาธรรมนี้พวกเรายังไม่พอใจ
บิดาและบุตรทั้ง 3 คนนั้น
ก็ยังไม่มีปัญญาจะหยั่งรู้ถึงปัญหาธรรมนี้เลย
[157] ท่านทั้ง 3 คนถูกถามถึงอรรถและธรรมนั้นก็ไม่อาจจะบอกได้
ไฉนเล่า เด็กถูกถามถึงอรรถและธรรมจะพึงรู้ได้
(สัญชัยกุมารได้ฟังดังนั้น จึงสรรเสริญสัมภวกุมารว่า)
[158] ท่านยังไม่ได้ถามสัมภวกุมารก่อนแล้ว
อย่าเพิ่งเข้าใจเธอว่าเป็นเด็ก
พราหมณ์ ท่านถามสัมภวกุมารแล้วพึงรู้อรรถและธรรมได้
[159] ดวงจันทร์ปราศจากมลทิน โคจรไปในอากาสธาตุ
ย่อมสว่างไสวกว่าหมู่ดาวทั้งสิ้นในโลกด้วยรัศมีแม้ฉันใด
[160] สัมภวกุมารถึงยังเป็นเด็กก็ฉันนั้น เพราะประกอบด้วยปัญญา
ท่านยังไม่ได้ถามสัมภวกุมารก่อนแล้วอย่าเพิ่งเข้าใจเธอว่าเป็นเด็ก
พราหมณ์ ท่านถามสัมภวกุมารแล้วพึงรู้อรรถและธรรมได้
[161] ท่านพราหมณ์ เดือนจิตตมาสแห่งคิมหันตฤดู
ย่อมงามยิ่งนักกว่าเดือนอื่น ๆ ด้วยต้นไม้และดอกไม้แม้ฉันใด
[162] สัมภวกุมารถึงยังเป็นเด็กก็ฉันนั้น เพราะประกอบด้วยปัญญา
ท่านยังไม่ได้ถามสัมภวกุมารก่อนแล้วอย่าเพิ่งเข้าใจเธอว่าเป็นเด็ก
พราหมณ์ ท่านถามสัมภวกุมารแล้วพึงรู้อรรถและธรรมได้
[163] ท่านพราหมณ์ หิมวันตบรรพตชื่อคันธมาทน์
ดารดาษไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ เป็นที่อยู่แห่งหมู่มหาภูต1
ย่อมสว่างไสวและตลบอบอวลไปทั่วทิศด้วยทิพยโอสถแม้ฉันใด

เชิงอรรถ :
1 มหาภูต หมายถึงหมู่เทพ (ขุ.ชา.อ. 7/163/211)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :564 }