เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [16. ติงสตินิบาต] 5. สัมภวชาดก (515)
[136] พระพุทธเจ้าทรงปราศจากความกระวนกระวาย
ความโศกและกิเลสดุจลูกศร ตรัสรู้ยิ่งด้วยพระองค์เอง
ได้ตรัสฉัททันตชาดกนี้อันเป็นของเก่า
ที่ไม่รู้จักสาบสูญตราบเท่าดวงอาทิตย์ยังไม่ดับ
ซึ่งพระองค์ได้ท่องเที่ยวไปตลอดกาลนาน
เป็นบุรพจริยาทั้งสูงและต่ำว่า
[137] ภิกษุทั้งหลาย โดยกาลนั้น
เราตถาคตได้มีอยู่ที่สระฉัททันต์นั้น
เราตถาคตได้เป็นพญาช้างตัวประเสริฐในกาลนั้น
เธอทั้งหลายจงจำชาดกไว้ด้วยประการฉะนี้
ฉัททันตชาดกที่ 4 จบ

5. สัมภวชาดก (515)
ว่าด้วยสัมภวกุมาร
(พระราชาตรัสถามปัญหากับพราหมณ์สุจีรตะว่า)
[138] ท่านอาจารย์สุจีรตะ ข้าพเจ้าบรรลุถึงราชสมบัติ
และความเป็นอธิบดีแล้ว แต่ยังปรารถนา
เพื่อบรรลุถึงความเป็นใหญ่และเพื่อชนะทั่วทั้งปฐพีนี้
[139] โดยธรรม มิใช่โดยอธรรม ข้าพเจ้าหาพอใจอธรรมไม่
ท่านอาจารย์สุจีรตะ พระราชาต้องประพฤติธรรมให้เป็นกิจอันสำคัญ
[140] ท่านพราหมณ์ เพราะเหตุใด เราทั้งหลาย
จะไม่ถูกนินทาในโลกนี้ ละไปแล้วก็จะไม่ถูกนินทา
และพึงถึงความมียศในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[141] ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าปรารถนาจะกระทำตามอรรถและธรรม
ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกอรรถและธรรมนั้นด้วยเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :561 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [16. ติงสตินิบาต] 5. สัมภวชาดก (515)
(สุจีรตพราหมณ์ไม่สามารถจะทูลตอบปัญหาได้ จึงกราบทูลว่า)
[142] ขอเดชะพระขัตติยราช
พระองค์ทรงปรารถนาจะกระทำตามอรรถและธรรมใด
อรรถและธรรมนั้นใครอื่นนอกจากวิธุรพราหมณ์
หาควรที่จะกล่าวชี้แจงไม่
(พระราชาทรงประสงค์จะส่งสุจีรตพราหมณ์ไป จึงตรัสว่า)
[143] มาเถิด ท่านอาจารย์สุจีรตะ ข้าพเจ้าจะส่งท่านไป
ท่านจงไปยังสำนักวิธุรพราหมณ์ จงนำทองคำแท่งนี้ไปด้วย
พึงมอบทองคำแท่งนี้กระทำให้เป็นเครื่องบูชา
สำหรับคำสอนอรรถและธรรม
(พระศาสดาเมื่อจะทรงเผยความนั้น จึงตรัสว่า)
[144] มหาพราหมณ์ภารทวาชะนั้นไปถึงสำนักวิธุรพราหมณ์แล้ว
ได้เห็นวิธุรพราหมณ์นั้นกำลังบริโภคอาหารอยู่ในเรือนของตน
(สุจีรตพราหมณ์ถูกถามถึงเหตุที่มา จึงกล่าวว่า)
[145] เราถูกพระเจ้าโกรัพยะผู้ทรงยศส่งมาเป็นทูต
พระเจ้าโกรัพยยุธิฏฐิละได้ตรัสอย่างนี้ว่า
ท่านพึงถามอรรถและธรรม วิธุระเพื่อน เราถามแล้ว
ขอท่านจงบอกอรรถและธรรมนั้นด้วยเถิด
(วิธุรพราหมณ์กล่าวว่า)
[146] สหายพราหมณ์ เราเกิดความขวนขวายขึ้นว่า
จักปิดกั้นแม่น้ำคงคา ก็ไม่อาจจะปิดกั้นแม่น้ำใหญ่นั้นได้
เพราะเหตุนั้น จักมีโอกาสได้อย่างไร
[147] เราถูกท่านถามถึงอรรถและธรรม ก็ไม่สามารถจะบอกท่านได้
แต่ภัทรการบุตรของเรา เป็นลูกในไส้เกิดแต่ตัวเราแท้ ๆ
ท่านจงไปถามอรรถและธรรมกับเขาเถิด พราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :562 }