เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [16. ติงสตินิบาต] 5. สัมภวชาดก (515)
[130] ช้างเหล่านั้นต่างคร่ำครวญร้องไห้อยู่ ณ ที่นั้น
โปรยฝุ่นลงที่ศีรษะของตน ทั้งหมดให้นางช้างตัวประเสริฐกว่า
ช้างทั้งหมดเดินนำหน้าแล้วพากันกลับไปสถานที่อยู่ของตน
[131] นายพรานนั้นนำงาทั้งคู่ของพญาคชสารตัวประเสริฐ
ซึ่งมีความสวยงามหาที่เปรียบมิได้ในพื้นปฐพี
ส่องรัศมีเปล่งปลั่งดังสายรุ้งทอง สว่างไสวไปทั่วไพรสณฑ์
เข้าไปยังกรุงกาสี แล้วน้อมงาทั้งคู่เข้าไปถวายพระราชกัญญา
กราบทูลว่า พญาช้างถูกข้าพระพุทธเจ้าฆ่าแล้ว
งาคู่นี้เป็นงาของพญาช้างนั้น
[132] เพราะทอดพระเนตรเห็นงาทั้งคู่ของพญาคชสารตัวประเสริฐ
ซึ่งเป็นภัสดาที่รักในชาติปางก่อน
พระหฤทัยของพระนางก็ได้แตกทำลาย ณ สถานที่นั้นนั่นเอง
พระนางผู้เป็นคนพาลได้สวรรคตเพราะเหตุนั้นนั่นแหละ
(พระเถระผู้สังคายนาพระธรรมเมื่อจะพรรณนาคุณของพระทศพล จึงได้
กล่าวว่า)
[133] ก็พระบรมศาสดาทรงบรรลุสัมโพธิญาณ
ทรงมีอานุภาพมาก ได้ทรงแย้มท่ามกลางบริษัท
ภิกษุทั้งหลายผู้มีจิตหลุดพ้นดีแล้วพากันกราบทูลว่า
ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายหาได้กระทำการแย้มให้ปรากฏ
ในเพราะสิ่งมิใช่เหตุไม่
[134] เธอทั้งหลายจงดูกุมารีสาวซึ่งครองผ้ากาสาวพัสตร์
ประพฤติเป็นผู้ไม่ครองเรือน
ภิกษุณีนั้นได้เป็นพระนางราชกัญญาในครั้งนั้น
ส่วนตถาคตได้เป็นพญาช้างในครั้งนั้น
[135] นายพรานผู้นำงาทั้งคู่ของพญาคชสารตัวประเสริฐ
ซึ่งมีความสวยงามหาที่เปรียบมิได้ในพื้นปฐพี
เข้าไปยังกรุงกาสีในกาลนั้น ได้เป็นพระเทวทัต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :560 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [16. ติงสตินิบาต] 5. สัมภวชาดก (515)
[136] พระพุทธเจ้าทรงปราศจากความกระวนกระวาย
ความโศกและกิเลสดุจลูกศร ตรัสรู้ยิ่งด้วยพระองค์เอง
ได้ตรัสฉัททันตชาดกนี้อันเป็นของเก่า
ที่ไม่รู้จักสาบสูญตราบเท่าดวงอาทิตย์ยังไม่ดับ
ซึ่งพระองค์ได้ท่องเที่ยวไปตลอดกาลนาน
เป็นบุรพจริยาทั้งสูงและต่ำว่า
[137] ภิกษุทั้งหลาย โดยกาลนั้น
เราตถาคตได้มีอยู่ที่สระฉัททันต์นั้น
เราตถาคตได้เป็นพญาช้างตัวประเสริฐในกาลนั้น
เธอทั้งหลายจงจำชาดกไว้ด้วยประการฉะนี้
ฉัททันตชาดกที่ 4 จบ

5. สัมภวชาดก (515)
ว่าด้วยสัมภวกุมาร
(พระราชาตรัสถามปัญหากับพราหมณ์สุจีรตะว่า)
[138] ท่านอาจารย์สุจีรตะ ข้าพเจ้าบรรลุถึงราชสมบัติ
และความเป็นอธิบดีแล้ว แต่ยังปรารถนา
เพื่อบรรลุถึงความเป็นใหญ่และเพื่อชนะทั่วทั้งปฐพีนี้
[139] โดยธรรม มิใช่โดยอธรรม ข้าพเจ้าหาพอใจอธรรมไม่
ท่านอาจารย์สุจีรตะ พระราชาต้องประพฤติธรรมให้เป็นกิจอันสำคัญ
[140] ท่านพราหมณ์ เพราะเหตุใด เราทั้งหลาย
จะไม่ถูกนินทาในโลกนี้ ละไปแล้วก็จะไม่ถูกนินทา
และพึงถึงความมียศในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[141] ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าปรารถนาจะกระทำตามอรรถและธรรม
ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกอรรถและธรรมนั้นด้วยเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :561 }