เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [16. ติงสตินิบาต] 4. ฉัททันตชาดก (514)
(โสนุตตรพรานนั้นรับพระเสาวนีย์แล้วทูลถามว่า)
[111] พญาช้างอาศัยอยู่ที่ไหน เข้าไปยืนอยู่ที่ไหน
หนทางไหนเป็นหนทางที่พญาช้างเดินไปอาบน้ำ
ก็พญาช้างนั้นอาบน้ำอย่างไร
ไฉนเล่าข้าพระพุทธเจ้าจะรู้ความเป็นไปของพญาช้างได้
(พระราชเทวีตรัสบอกถึงสถานที่ซึ่งจะพบช้างเผือกได้ว่า)
[112] ณ สถานที่ที่พญาช้างอาศัยอยู่นั่นแล
มีสระโบกขรณีอยู่ไม่ไกล น่ารื่นรมย์ มีท่าน้ำสวยงาม ทั้งมีน้ำมาก
มีดอกปทุมบานสะพรั่ง มีหมู่ภมรคลุกเคล้าเกษรอยู่เป็นอาจิณ
พญาช้างนั้นลงอาบน้ำในสระโบกขรณีนี้แหละ
[113] พญาช้างเผือกชำระศีรษะแล้ว ทัดดอกอุบล
มีร่างกายผิวพรรณผุดผ่องขาวราวกะดอกบุณฑริก
รื่นเริงบันเทิงใจให้พระนางสุภัทรามเหสีเดินนำหน้าไปยังที่อยู่ของตน
(พระศาสดาเมื่อจะทรงขยายความให้แจ้ง จึงตรัสว่า)
[114] นายพรานนั้นรับพระเสาวนีย์ของพระนางที่ปราสาทชั้นที่ 7
นั้นแหละแล้วจึงถือกระบอกลูกเกาทัณฑ์และธนูคันใหญ่ไป
พิจารณาคีรีบรรพตใหญ่ทั้ง 7 เทือก
จึงเห็นคีรีบรรพตสูงใหญ่ชื่อว่าสุวรรณปัสสคีรี
[115] แล้วจึงขึ้นไปยังเสลบรรพตซึ่งเป็นที่อยู่ของหมู่กินนร
มองลงไปเบื้องล่างเชิงเขา ได้เห็นพญาไทรมีสีสันงาม
เสมอเหมือนเมฆ มีย่านไทรห้อยย้อยอยู่ 8,000 ย่าน
[116] ณ ใต้ต้นไทรนั้น เขาได้เห็นพญากุญชร
งามีรัศมี 6 ประการ ยากที่ใครอื่นจะข่มขี่ได้
พญาช้างเผือกนั้นมีช้างประมาณ 8,000 เชือก
มีงางอนงามเหมือนงอนรถ วิ่งไล่ประหารปัจจามิตรเร็วปานลมพัด
แวดล้อมรักษาอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :557 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [16. ติงสตินิบาต] 4. ฉัททันตชาดก (514)
[117] อนึ่ง เขาได้เห็นสระโบกขรณีอยู่ไม่ไกล น่ารื่นรมย์
มีท่าน้ำสวยงาม ทั้งมีน้ำมาก มีดอกปทุมบานสะพรั่ง
มีหมู่ภมรคลุกเคล้าเกษรอยู่เป็นอาจิณ
ซึ่งเป็นสถานที่ที่พญาช้างนั้นลงอาบน้ำ
[118] ครั้นได้เห็นความเป็นไป การยืน
และหนทางที่พญาช้างนั้นเดินไปอาบน้ำแล้ว
นายพรานผู้ชั่วช้าถูกพระนางสุภัทราเทวี
ผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งจิตทรงใช้มา จึงได้ไปขุดหลุม
[119] นายพรานผู้มีนิสัยทำกรรมหยาบช้า ครั้นขุดหลุมแล้ว
จึงปิดด้วยแผ่นไม้กระดาน แล้วหย่อนตัวลงไป
จับธนูยิงพญาช้างที่เดินมาข้างหลุมด้วยลูกเกาทัณฑ์ใหญ่
[120] ก็แหละพญาช้างพอถูกยิงก็บันลือร้องก้องโกญจนาท
ช้างทั้งหมดก็พากันบันลือเสียงอื้ออึง
ต่างพากันวิ่งไปมารอบ ๆ ทั้ง 8 ทิศ
ทำหญ้าและไม้ให้แหลกเป็นจุรณ
[121] พญาช้างจับนายพรานนั้นด้วยหมายใจว่า เราจักฆ่ามัน
ได้เห็นผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยแห่งฤๅษีทั้งหลาย
ทั้ง ๆ ที่ได้รับทุกขเวทนา ก็เกิดสัญญาขึ้นว่า
บุคคลผู้ทรงธงชัยแห่งพระอรหันต์ สัตบุรุษไม่ควรฆ่า
(พญาช้างกล่าวกับนายพรานนั้นว่า)
[122] ผู้ใดมีกิเลสดุจน้ำฝาดยังไม่หมดไป
ปราศจากทมะและสัจจะ จักนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
ผู้นั้นไม่สมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์เลย
[123] ส่วนผู้ใดคลายกิเลสดุจน้ำฝาดได้แล้ว
ตั้งมั่นด้วยดีในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยทมะและสัจจะ
ผู้นั้นแลสมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :558 }