เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [16. ติงสตินิบาต] 3. ชยัททิสชาดก (513)
(ยักษ์กราบทูลว่า)
[85] เรารู้ว่าท่านเป็นพระโอรสของพระเจ้าชัยทิศ
เพราะใบหน้าและผิวพรรณของท่านทั้ง 2 คล้ายคลึงกัน
การที่บุคคลยอมตายเพื่อปลดเปลื้องบิดาของตน
นี้เป็นกรรมที่กระทำได้ยาก แต่ท่านได้กระทำแล้ว
(พระราชกุมารตรัสว่า)
[86] ในเรื่องนี้เรามิได้สำคัญว่าทำได้ยากอะไรนัก
บุคคลใดยอมตายเพื่อปลดเปลื้องบิดาของตน
หรือเพราะเหตุแห่งมารดา บุคคลนั้นไปสู่ปรโลกแล้ว
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความสุขและอารมณ์อันเลิศ
(พระราชกุมารถูกยักษ์ถามถึงความไม่กลัวตาย จึงตรัสว่า)
[87] ก็เราระลึกไม่ได้สักนิดเดียว
ถึงการกระทำความชั่วของตนทั้งในที่แจ้งหรือที่ลับ
เราเป็นผู้มีการเกิดและการตายตามกำหนด
การพ้นจากความตายย่อมไม่มีในโลกนี้ฉันใด
ในโลกหน้าก็ฉันนั้น
[88] ท่านผู้มีอานุภาพมาก วันนี้ท่านจงกินเราบัดนี้เถิด
จงทำกิจที่ควรทำกับสรีระนี้ หรือว่าเพื่อท่านเราจะตกจากยอดไม้
ท่านพอใจจงกินเนื้อของเราส่วนที่ท่านพอใจเถิด
(ยักษ์ฟังพระดำรัสแล้วตกใจกลัว จึงกราบทูลว่า)
[89] ท่านราชบุตร ถ้าท่านพอใจอย่างนี้
ท่านจะสละชีวิตเพื่อปลดเปลื้องพระบิดา
ฉะนั้น ท่านจงรีบหักฟืน ก่อไฟให้โพลงขึ้นในที่นี้
(พระศาสดาเมื่อทรงประกาศเหตุนั้น จึงตรัสว่า)
[90] ลำดับนั้นแล พระราชบุตรผู้ทรงปรีชาได้รวบรวมฟืน
ก่อไฟกองใหญ่ขึ้นแล้ว จึงตรัสบอกให้ยักษ์ทราบว่า
บัดนี้ไฟกองใหญ่เราได้ก่อแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :552 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [16. ติงสตินิบาต] 3. ชยัททิสชาดก (513)
(พระราชกุมารทรงเห็นกิริยาของยักษ์นั้น จึงตรัสว่า)
[91] บัดนี้ท่านจงข่มขี่กินเราในวันนี้เถิด
ทำไมท่านจึงขนพองเพ่งดูเราบ่อย ๆ
เรากระทำตามคำของท่าน ตามที่ท่านพอใจจะกินเรา
(ยักษ์กราบทูลว่า)
[92] ใครเล่าควรที่จะกินคนผู้ดำรงอยู่ในธรรม
มีปกติกล่าวคำสัตย์ รู้ถ้อยคำของผู้ขอเช่นท่าน
บุคคลใดพึงกินคนผู้มีปกติกล่าวคำสัตย์เช่นนั้น
แม้ศีรษะของบุคคลนั้นก็พึงแตกออก 7 เสี่ยง
(พระราชกุมารตรัสว่า)
[93] เพราะสสบัณฑิตนั้นสำคัญท้าวสักกเทวราชนี้ว่าเป็นพราหมณ์
จึงได้ให้สิงอยู่ในสรีระของตน ยักษ์ เพราะเหตุนั้นแล
จันทิมเทพบุตรนั้นจึงมีรูปกระต่ายปรากฏอยู่
ซึ่งให้ความพอใจแก่ชาวโลกตราบจนทุกวันนี้
(ยักษ์เมื่อจะปล่อยพระราชกุมาร จึงกราบทูลว่า)
[94] ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์พ้นจากปากราหูแล้วย่อมไพโรจน์
ในดิถีเพ็ญ 15 ค่ำฉันใด
ท่านผู้มีอานุภาพมาก แม้ท่านก็ฉันนั้น พ้นแล้วจากยักษ์โปริสาท
ยังพระบิดาและพระมารดาให้ปลื้มพระทัย
จงไพโรจน์ในกบิลรัฐเถิด
อนึ่ง ขอพระประยูรญาติของพระองค์ทุกฝ่ายจงร่าเริงยินดีทั่วหน้า
(พระศาสดาทรงประกาศความนั้นว่า)
[95] ลำดับนั้น พระราชบุตรทรงพระนามอลีนสัตตุผู้ทรงพระปรีชา
ทรงประคองอัญชลี ถวายบังคมโปริสาทดาบส
ทรงได้รับอนุญาตเสด็จกลับกบิลรัฐอย่างสุขสวัสดีและปลอดภัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :553 }