เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [16. ติงสตินิบาต] 1. กิงฉันทชาดก (511)
[20] แม่นางผู้ที่หมู่ฤๅษีรู้จักกันดี
เธอเป็นคนที่ผู้ลอยบาปรู้แจ้งชัดว่า
เป็นผู้เกื้อกูลแก่ชาวโลก แม่นางผู้มีความงาม
เธอย่อมแสวงหาบาปกรรม
เพราะเจรจาถ้อยคำที่ไม่ประเสริฐ
[21] แม่นางผู้มีสะโพกงามผึ่งผาย
ถ้าอาตมาจักตายที่ริมฝั่งน้ำของเธอ
ชื่อเสียงอันเลวทรามจักมาถึงเธอโดยไม่ต้องสงสัย
เมื่ออาตมาล่วงลับไปแล้ว
[22] เพราะเหตุนั้นแล แม่นางผู้มีเรือนร่างอันสวยงาม
เธอจงระวังบาปกรรม เมื่ออาตมาตายไปแล้ว
ขอชนทั้งปวงอย่าได้กล่าวติเตียนเธอในภายหลังเลย
(เทพธิดาได้สดับดังนั้นแล้ว จึงได้กล่าวว่า)
[23] เหตุนั้นข้าพเจ้าได้ทราบแล้ว
ขอพระองค์ทรงอดกลั้นสิ่งที่อดกลั้นได้ยากเถิด
ข้าพเจ้ายอมถวายตนและผลมะม่วงนั้นแก่พระองค์
ผู้ทรงละกามคุณที่ละได้ยาก
ดำรงสันติและธรรม1ไว้อย่างมั่นคง
[24] ผู้ใดละสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต้นได้
แต่ยังติดอยู่ในสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องปลาย
ประพฤติอธรรมอยู่นั่นเทียว บาปย่อมเจริญแก่ผู้นั้น
[25] เชิญเสด็จมาเถิด ข้าพเจ้าจะช่วยพระองค์
ขอพระองค์ทรงขวนขวายน้อยโดยส่วนเดียวเถิด
ข้าพเจ้าจะนำพระองค์ไปที่สวนมะม่วงอันร่มเย็น
ขอพระองค์ปราศจากความขวนขวายอยู่เถิด

เชิงอรรถ :
1 สันติ หมายถึงศีลกล่าวคือความสงบจากความทุศีล ธรรม หมายถึงสุจริตธรรม (ขุ.ชา.อ. 7/23/150)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :541 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [16. ติงสตินิบาต] 2. กุมภชาดก (512)
[26] ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงข่มอริราชศัตรู
สวนมะม่วงนั้นเซ็งแซ่ไปด้วยหมู่นกที่มัวเมาด้วยรสดอกไม้
ทิพยสกุณปักษี คือ นกกระเรียน นกยูง นกเขา
และนกสาลิกาก็มีอยู่ในสวนมะม่วงนี้
และในสวนนี้ยังมีฝูงหงส์ส่งเสียงร้องระงม
นกดุเหว่าเร่าร้องกึกก้องปลุกเหล่าสัตว์ให้ตื่นอยู่
[27] ณ สวนมะม่วงนี้ ต้นมะม่วงทั้งหลายมีปลายกิ่งโน้มลง
ด้วยพวงผลดกดื่นเช่นรวงข้าวสาลี มีทั้งต้นคำ ต้นสน
ต้นกระทุ่ม และผลตาลสุกห้อยย้อยอยู่เรียงราย
(ดาบสเห็นเปรตเสวยทิพยสมบัติในเวลาดวงอาทิตย์ตก จึงได้กล่าวว่า)
[28] เธอผู้ประดับมาลา โพกภูษา
ประดับอาภรณ์ สวมใส่กำไลมือกำไลแขน
มีร่างกายฟุ้งไปด้วยจุรณแก่นจันทน์
ถูกบำเรอตลอดคืน ส่วนกลางวันเสวยเวทนา
[29] เธอมีหญิง 16,000 นางเป็นนางบำเรอ
มีอานุภาพมากอย่างนี้ ยังไม่เคยมี
น่าขนพองสยองเกล้า
[30] ในภพก่อนเธอได้ทำบาปกรรมอะไรที่นำทุกข์มาให้ตน
เธอทำกรรมอะไรไว้ในมนุษย์ทั้งหลาย จึงต้องมากัดกินเนื้อหลังของตน
(เปรตจำดาบสนั้นได้ จึงกล่าวว่า)
[31] ข้าพระองค์ได้เล่าเรียนพระเวท หมกมุ่นอยู่ในกามทั้งหลาย
ได้ประพฤติสิ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ชนเหล่าอื่นตลอดกาลนาน
[32] ผู้หากินบนหลังคนอื่นต้องควักเนื้อหลังของตนกิน
เหมือนข้าพระองค์วันนี้ต้องกัดกินเนื้อหลังของตนเอง
กิงฉันทชาดกที่ 1 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :542 }