เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [16. ติงสตินิบาต] 1. กิงฉันทชาดก (511)
[13] อนึ่ง ธารน้ำจากแนวป่า ก่อตัวเป็นห้วงวารีสีเขียว
และธารน้ำอันเป็นที่ปลื้มใจแห่งพวกนาคเป็นจำนวนมาก
ไหลมาท่วมข้าพเจ้าด้วยห้วงวารี
[14] สายน้ำเหล่านั้นย่อมพัดพาผลไม้หลายชนิด
คือ มะม่วง ผลหว้า ขนุนสำปะลอ
กระทุ่ม ผลตาล และมะเดื่อมาเนือง ๆ
[15] ผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งที่ฝั่งแม่น้ำทั้ง 2 หล่นลงไปในน้ำ
ผลไม้นั้นย่อมลอยไปตามอำนาจกระแสน้ำโดยไม่ต้องสงสัย
[16] พระองค์ผู้จอมชนเป็นปราชญ์ มีปัญญามาก
ขอพระองค์จงสดับคำของข้าพเจ้า พระองค์ทราบอย่างนี้แล้ว
อย่าทรงพอพระทัยความเกาะเกี่ยว1
ทรงปฏิเสธเสียเถิด
[17] พระราชฤๅษีผู้ผดุงแคว้นให้เจริญ
ข้าพเจ้าไม่เข้าใจความเป็นบัณฑิตของพระองค์เลย
ซึ่งพระองค์กำลังทรงพระเจริญวัย
แต่กลับหวังความตาย
[18] พระบิดา คนธรรพ์ พร้อมทั้งเทวดา
ย่อมทราบความที่พระองค์ตกอยู่ในอำนาจแห่งตัณหา
อนึ่ง ฤๅษีทั้งหลายเหล่าใดในโลก
ผู้สำรวมตน มีตบะ ผู้เริ่มตั้งความเพียร มียศ
ฤๅษีแม้เหล่านั้นก็ย่อมทราบโดยไม่ต้องสงสัย
(ต่อแต่นั้น ดาบสได้กล่าวว่า)
[19] บาปย่อมไม่เจริญแก่นรชนผู้รู้
เพราะรู้ธรรมทั้งปวง รู้ความแตกสลาย
และรู้การจุติแห่งชีวิต ถ้าเขาไม่จงใจจะฆ่าผู้อื่น

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงเกาะเกี่ยวด้วยอำนาจตัณหา (ขุ.ชา.อ. 7/16/147)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :540 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [16. ติงสตินิบาต] 1. กิงฉันทชาดก (511)
[20] แม่นางผู้ที่หมู่ฤๅษีรู้จักกันดี
เธอเป็นคนที่ผู้ลอยบาปรู้แจ้งชัดว่า
เป็นผู้เกื้อกูลแก่ชาวโลก แม่นางผู้มีความงาม
เธอย่อมแสวงหาบาปกรรม
เพราะเจรจาถ้อยคำที่ไม่ประเสริฐ
[21] แม่นางผู้มีสะโพกงามผึ่งผาย
ถ้าอาตมาจักตายที่ริมฝั่งน้ำของเธอ
ชื่อเสียงอันเลวทรามจักมาถึงเธอโดยไม่ต้องสงสัย
เมื่ออาตมาล่วงลับไปแล้ว
[22] เพราะเหตุนั้นแล แม่นางผู้มีเรือนร่างอันสวยงาม
เธอจงระวังบาปกรรม เมื่ออาตมาตายไปแล้ว
ขอชนทั้งปวงอย่าได้กล่าวติเตียนเธอในภายหลังเลย
(เทพธิดาได้สดับดังนั้นแล้ว จึงได้กล่าวว่า)
[23] เหตุนั้นข้าพเจ้าได้ทราบแล้ว
ขอพระองค์ทรงอดกลั้นสิ่งที่อดกลั้นได้ยากเถิด
ข้าพเจ้ายอมถวายตนและผลมะม่วงนั้นแก่พระองค์
ผู้ทรงละกามคุณที่ละได้ยาก
ดำรงสันติและธรรม1ไว้อย่างมั่นคง
[24] ผู้ใดละสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต้นได้
แต่ยังติดอยู่ในสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องปลาย
ประพฤติอธรรมอยู่นั่นเทียว บาปย่อมเจริญแก่ผู้นั้น
[25] เชิญเสด็จมาเถิด ข้าพเจ้าจะช่วยพระองค์
ขอพระองค์ทรงขวนขวายน้อยโดยส่วนเดียวเถิด
ข้าพเจ้าจะนำพระองค์ไปที่สวนมะม่วงอันร่มเย็น
ขอพระองค์ปราศจากความขวนขวายอยู่เถิด

เชิงอรรถ :
1 สันติ หมายถึงศีลกล่าวคือความสงบจากความทุศีล ธรรม หมายถึงสุจริตธรรม (ขุ.ชา.อ. 7/23/150)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :541 }