เมนู

1. กิงฉันทชาดก (511)
[7] อาตมาเฝ้าประจำอยู่เพราะเหตุใด
เหตุนั้นทั้งหมด อาตมาได้บอกแก่ท่านแล้ว
อาตมานั่งเฝ้าอยู่เฉพาะแม่น้ำสายที่น่ารื่นรมย์
แม่น้ำสายนี้กว้างใหญ่ไพศาล
ขวักไขว่ไปด้วยปลาโลมาตัวใหญ่ ๆ
[8] แม่นางผู้ไม่แอบแฝงตน
แม่นางนั้นแหละจงบอกแก่อาตมาเถิด
แม่นางผู้มีเรือนร่างสง่างาม นางเป็นใครกัน
และมาที่นี่เพราะเหตุอะไร
[9] เทพนารีเหล่าใดผู้มีเรือนร่างประดุจแผ่นทองคำที่ขัดสีดีแล้ว
หรือประดุจนางพยัคฆ์ที่เกิดอยู่ตามซอกเขา
เป็นปริจาริกาของเทพ มีอยู่ในโลก
[10] และสตรีรูปงามเหล่าใดมีอยู่ในมนุษยโลก
บรรดาเทพนารี คนธรรพ์ และหญิงมนุษย์
สตรีเหล่านั้นไม่มีรูปร่างเช่นกับแม่นาง
แม่นางผู้มีลำขาอ่อนกลมกลึงประดุจแท่งทอง
อาตมาถามแล้ว ขอแม่นางจงบอกนาม
และเผ่าพันธุ์แก่อาตมาด้วยเถิด
(เทพธิดากล่าวว่า)
[11] ท่านพราหมณ์ ท่านนั่งเฝ้าอยู่เฉพาะ
แม่น้ำโกสิกีอันน่ารื่นรมย์สายใด
ข้าพเจ้าอยู่ที่วิมานมีกระแสน้ำเชี่ยว
ซึ่งเป็นห้วงน้ำใหญ่สายนั้น
[12] ลำธารจากภูเขาจำนวนมาก
ดื่นดาษไปด้วยหมู่ไม้นานาพันธุ์
ไหลรวมกัน ตรงมาหาข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :539 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [16. ติงสตินิบาต] 1. กิงฉันทชาดก (511)
[13] อนึ่ง ธารน้ำจากแนวป่า ก่อตัวเป็นห้วงวารีสีเขียว
และธารน้ำอันเป็นที่ปลื้มใจแห่งพวกนาคเป็นจำนวนมาก
ไหลมาท่วมข้าพเจ้าด้วยห้วงวารี
[14] สายน้ำเหล่านั้นย่อมพัดพาผลไม้หลายชนิด
คือ มะม่วง ผลหว้า ขนุนสำปะลอ
กระทุ่ม ผลตาล และมะเดื่อมาเนือง ๆ
[15] ผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งที่ฝั่งแม่น้ำทั้ง 2 หล่นลงไปในน้ำ
ผลไม้นั้นย่อมลอยไปตามอำนาจกระแสน้ำโดยไม่ต้องสงสัย
[16] พระองค์ผู้จอมชนเป็นปราชญ์ มีปัญญามาก
ขอพระองค์จงสดับคำของข้าพเจ้า พระองค์ทราบอย่างนี้แล้ว
อย่าทรงพอพระทัยความเกาะเกี่ยว1
ทรงปฏิเสธเสียเถิด
[17] พระราชฤๅษีผู้ผดุงแคว้นให้เจริญ
ข้าพเจ้าไม่เข้าใจความเป็นบัณฑิตของพระองค์เลย
ซึ่งพระองค์กำลังทรงพระเจริญวัย
แต่กลับหวังความตาย
[18] พระบิดา คนธรรพ์ พร้อมทั้งเทวดา
ย่อมทราบความที่พระองค์ตกอยู่ในอำนาจแห่งตัณหา
อนึ่ง ฤๅษีทั้งหลายเหล่าใดในโลก
ผู้สำรวมตน มีตบะ ผู้เริ่มตั้งความเพียร มียศ
ฤๅษีแม้เหล่านั้นก็ย่อมทราบโดยไม่ต้องสงสัย
(ต่อแต่นั้น ดาบสได้กล่าวว่า)
[19] บาปย่อมไม่เจริญแก่นรชนผู้รู้
เพราะรู้ธรรมทั้งปวง รู้ความแตกสลาย
และรู้การจุติแห่งชีวิต ถ้าเขาไม่จงใจจะฆ่าผู้อื่น

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงเกาะเกี่ยวด้วยอำนาจตัณหา (ขุ.ชา.อ. 7/16/147)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :540 }