เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [15. วีสตินิบาต] 14. อโยฆรชาดก (510)
แต่นายแพทย์เหล่านั้น ได้ยินว่า ได้ตายไปแล้วเช่นกันแล
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม
[384] วิทยาธรทั้งหลาย เมื่อร่ายเวทย์ชื่อโฆรมนต์
ย่อมหายตัวไปได้ด้วยโอสถทั้งหลาย
แต่จะร่ายเวทย์ไม่ให้พญามัจจุราชเห็นหาได้ไม่
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม
[385] ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้
นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว
ผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ
[386] สภาวะทั้ง 2 คือ ธรรมและอธรรม
หามีผลวิบากเสมอกันได้ไม่
เพราะอธรรมนำสัตว์ไปนรก
ส่วนธรรมยังสัตว์ให้ถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้
อโยฆรชาดกที่ 14 จบ

รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้ คือ

1. มาตังคชาดก 2. จิตตสัมภูตชาดก
3. สีวิราชชาดก 4. สิรีมันตชาดก
5. โรหณมิคชาดก 6. จูฬหังสชาดก
7. สัตติคุมพชาดก 8. ภัลลาติยชาดก
9. โสมนัสสชาดก 10. จัมเปยยชาดก
11. มหาปโลภนชาดก 12. ปัญจปัณฑิตชาดก
13. หัตถิปาลชาดก 14. อโยฆรชาดก

วีสตินิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :537 }


16. ติงสตินิบาต
1. กิงฉันทชาดก (511)
ว่าด้วยดาบสผู้มีความพอใจอะไร
(เทพธิดาผู้รักษาแม่น้ำกล่าวกับกิงฉันทดาบสว่า)
[1] ท่านพราหมณ์ ท่านพอใจ1อะไร
ประสงค์อะไร ปรารถนาอะไร
แสวงหาอะไรอยู่ และเพราะต้องการอะไร
จึงมาอยู่แต่ผู้เดียวในฤดูร้อน
(ดาบสได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[2] หม้อน้ำใบใหญ่มีทรวดทรงงดงามฉันใด
มะม่วงสุกที่อุดมไปด้วยสี กลิ่น และรสก็อุปไมยได้ฉันนั้น
[3] มะม่วงนั้นลอยมาตามกระแสน้ำท่ามกลางสายน้ำใส
อาตมาเห็นเข้าจึงยื่นมือไปเก็บมัน นำมาเก็บไว้ในโรงบูชาไฟ
[4] แต่นั้นอาตมาเองวางมะม่วงไว้บนใบตอง ใช้มีดฝานแล้วฉัน
มะม่วงนั้นระงับความหิวกระหายของอาตมาแล้ว
[5] อาตมานั้นปราศจากความกระวนกระวาย
ผลมะม่วงหมดไป ก็ได้แต่ข่มความทุกข์
ยังไม่ประสบผลไม้อย่างอื่นชนิดใดชนิดหนึ่งเลย
[6] มะม่วงสุกผลใดมีรสอร่อย มีรสเป็นเลิศ น่าพอใจ
ลอยมาในห้วงมหรรณพ อาตมาเก็บขึ้นมาจากทะเล
มะม่วงสุกผลนั้นทำอาตมาให้ซูบผอม
จักนำความตายมาให้อาตมาแน่นอน

เชิงอรรถ :
1 พอใจ หมายถึงอัธยาศัย (ขุ.ชา.อ. 7/1/143)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :538 }