เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [15. วีสตินิบาต] 13. หัตถิปาลชาดก (509)
(ต่อมาพระราชบิดาเมื่อทรงพร่ำสอนพระกุมารตามอัธยาศัย จึงตรัสคาถาว่า)
[340] หัตถิบาลลูกรัก เจ้าจงเล่าเรียนวิทยาแสวงหาทรัพย์
ปลูกฝังบุตรธิดาให้ดำรงอยู่ในเหย้าเรือน
แล้วจงเสวยคันธารมณ์ รสารมณ์ และวัตถุกาม1ทั้งปวงเถิด
เป็นนักบวชได้ในเวลาแก่ เป็นการดี
พระอริยะสรรเสริญผู้บวชนั้นว่าเป็นมุนี
(หัตถิปาลกุมารได้กล่าวคาถาว่า)
[341] เวทวิทยาเป็นของไม่จริง
ลาภคือทรัพย์มีสภาพเป็นอันเดียวก็หาไม่
ชนทั้งหลายห้ามความชราได้เพราะลาภคือบุตรก็หาไม่
สัตบุรุษกล่าวยกย่องการปล่อยวางคันธารมณ์และรสารมณ์
ผลสำเร็จย่อมมีได้ เพราะการกระทำของตน
(พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้วจึงตรัสคาถาว่า)
[342] คำของเจ้านั้นเป็นคำสัตย์อย่างแท้จริง
ผลสำเร็จย่อมมีได้เพราะการกระทำของตน
แต่มารดาบิดาของเจ้าเหล่านี้แก่เฒ่าแล้ว
พึงเห็นเจ้ามีอายุ 100 ปี ไม่มีโรค
(หัตถิปาลกุมารสดับดังนั้นแล้วจึงได้กล่าว 2 คาถาว่า)
[343] ขอเดชะพระมหาราช ผู้แกล้วกล้าประเสริฐกว่านรชน
ความเป็นเพื่อนกับความตาย
ความเป็นมิตรไมตรีกับความแก่ พึงมีแก่ผู้ใด
และแม้ผู้ใดพึงรู้ในกาลบางคราวว่า เราจักไม่ตาย
มารดาบิดาพึงเห็นผู้นั้นมีอายุ 100 ปี ไม่มีโรค

เชิงอรรถ :
1 คันธารมณ์ อารมณ์ที่เกิดแต่กลิ่น รสารมณ์ อารมณ์ที่เกิดแต่รส วัตถุกาม วัตถุที่น่าใคร่ น่าปรารถนา
น่าอยากได้ โดยความได้แก่กามคุณ 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :529 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [15. วีสตินิบาต] 13. หัตถิปาลชาดก (509)
[344] ถ้าคนยกเรือลงน้ำพายไป นำคนข้ามฟากไปยังฝั่งได้แม้ฉันใด
พยาธิและชราก็ฉันนั้น ย่อมนำสัตว์ไปสู่อำนาจ
ของมัจจุราชผู้ทำที่สุดแน่นอน
(อัสสปาลกุมารเมื่อจะแสดงธรรมแก่พระราชบิดา จึงตรัส 2 คาถาว่า)
[345] กามทั้งหลายเสมือนเปือกตม เสมือนหล่ม
เป็นเครื่องนำใจเหล่าสัตว์ไปได้ ข้ามได้ยาก
เป็นที่ตั้งแห่งพญามัจจุราช
สัตว์ทั้งหลายผู้จมอยู่ในเปือกตมและหล่มคือกามนั้น
เป็นผู้มีอัตภาพเลวทรามย่อมข้ามถึงฝั่งคือพระนิพพานหาได้ไม่
[346] เมื่อก่อน อัตภาพนี้ได้กระทำกรรมอันหยาบช้าไว้
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับวิบากกรรมนั้นแล้ว
ความพ้นจากวิบากกรรมนี้ไม่มีแก่ข้าพระพุทธเจ้าเลย
ข้าพระพุทธเจ้าจะปิดกั้นปกปักรักษาอัตภาพนั้นไว้
ขออัตภาพนี้อย่าได้กระทำกรรมหยาบช้าอีกเลย
(โคปาลกุมารทรงปฏิเสธพระราชบิดาแล้ว จึงตรัสคาถาว่า)
[347] ขอเดชะพระมหาราช นายโคบาลเมื่อไม่เห็นโคที่หายไปในป่า
ย่อมตามหาฉันใด ขอเดชะพระเจ้าเอสุการีมหาราช
ประโยชน์ของข้าพระพุทธเจ้าก็หายไปแล้วฉันนั้น
ไฉนเล่า ข้าพระพุทธเจ้านั้นจะไม่พึงแสวงหา
(และท่านได้ฟังพระดำรัสขอร้องของพระราชบิดาแล้ว จึงตรัสคาถาอีกว่า)
[348] คนกล่าวผัดเพี้ยนว่า พรุ่งนี้ก็เสื่อม ว่า มะรืนนี้ก็ยิ่งเสื่อม
ธีรชนคนใดเล่าจะพึงรู้ว่า อนาคตนั้นไม่มี
แล้วบรรเทาความพอใจที่เกิดขึ้นได้
(อชปาลกุมารกราบทูลปฏิเสธพระราชบิดาแล้ว จึงตรัส 2 คาถาว่า)
[349] ข้าพระพุทธเจ้าเห็นหญิงสาวคนหนึ่ง
ท่องเที่ยวไปเหมือนคนเมา มีดวงตาเหมือนดอกการะเกด
พญามัจจุราชได้คร่าชีวิตนางในปฐมวัยซึ่งยังมิได้บริโภคโภคะไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :530 }