เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [15. วีสตินิบาต] 13. หัตถิปาลชาดก (509)
[334] คนผู้รู้ความลับที่ผู้อื่นไม่รู้
เพราะกลัวความลับที่ปรึกษาหารือกันไว้จะแตก
ย่อมอดกลั้นไว้ดุจบุคคลผู้เป็นทาสเขา
[335] คนมีประมาณเท่าใดล่วงรู้ความลับที่เขาปรึกษากัน
คนมีประมาณเท่านั้นเป็นบุคคลที่น่าหวาดกลัวของเขา
เพราะฉะนั้น บุคคลไม่ควรเปิดเผยความลับ
[336] ในเวลากลางวันควรพูดความลับในที่สงัด
เวลากลางคืนไม่ควรพูดดังเกินไป
เพราะเหตุว่าคนแอบฟังได้ยินความลับที่ปรึกษากันเข้า
ความลับนั้นจะถึงการแพร่งพรายโดยเร็วพลัน
ปัญจปัณฑิตชาดกที่ 12 จบ

13. หัตถิปาลชาดก (509)
ว่าด้วยหัตถิปาลกุมาร
(หัตถิปาลกุมารเห็นฤๅษีเหล่านั้นแล้วดีใจเลื่อมใส ได้กล่าว 3 คาถาว่า)
[337] นานแล้วหนอ ข้าพเจ้าเพิ่งจะได้พบเห็นพราหมณ์
ผู้มีเพศดังเทพ มีชฎาใหญ่ ทรงไว้ซึ่งหาบคอน
มีขี้ฟันเขรอะ มีศีรษะหมักหมมด้วยธุลี
[338] นานแล้วหนอ ข้าพเจ้าเพิ่งจะได้พบเห็น
ฤๅษีผู้ยินดีในธรรมคุณ
นุ่งผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด มีผ้าคากรองปิดร่างกาย
[339] ขอพระคุณเจ้าผู้เจริญจงรับอาสนะ น้ำ
และผ้าเช็ดเท้าของข้าพเจ้าเถิด
ข้าพเจ้าขอถวายของมีค่าต้อนรับพระคุณเจ้าผู้เจริญ
ขอพระคุณเจ้าผู้เจริญจงใช้สอยของมีค่าของข้าพเจ้าด้วยเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :528 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [15. วีสตินิบาต] 13. หัตถิปาลชาดก (509)
(ต่อมาพระราชบิดาเมื่อทรงพร่ำสอนพระกุมารตามอัธยาศัย จึงตรัสคาถาว่า)
[340] หัตถิบาลลูกรัก เจ้าจงเล่าเรียนวิทยาแสวงหาทรัพย์
ปลูกฝังบุตรธิดาให้ดำรงอยู่ในเหย้าเรือน
แล้วจงเสวยคันธารมณ์ รสารมณ์ และวัตถุกาม1ทั้งปวงเถิด
เป็นนักบวชได้ในเวลาแก่ เป็นการดี
พระอริยะสรรเสริญผู้บวชนั้นว่าเป็นมุนี
(หัตถิปาลกุมารได้กล่าวคาถาว่า)
[341] เวทวิทยาเป็นของไม่จริง
ลาภคือทรัพย์มีสภาพเป็นอันเดียวก็หาไม่
ชนทั้งหลายห้ามความชราได้เพราะลาภคือบุตรก็หาไม่
สัตบุรุษกล่าวยกย่องการปล่อยวางคันธารมณ์และรสารมณ์
ผลสำเร็จย่อมมีได้ เพราะการกระทำของตน
(พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้วจึงตรัสคาถาว่า)
[342] คำของเจ้านั้นเป็นคำสัตย์อย่างแท้จริง
ผลสำเร็จย่อมมีได้เพราะการกระทำของตน
แต่มารดาบิดาของเจ้าเหล่านี้แก่เฒ่าแล้ว
พึงเห็นเจ้ามีอายุ 100 ปี ไม่มีโรค
(หัตถิปาลกุมารสดับดังนั้นแล้วจึงได้กล่าว 2 คาถาว่า)
[343] ขอเดชะพระมหาราช ผู้แกล้วกล้าประเสริฐกว่านรชน
ความเป็นเพื่อนกับความตาย
ความเป็นมิตรไมตรีกับความแก่ พึงมีแก่ผู้ใด
และแม้ผู้ใดพึงรู้ในกาลบางคราวว่า เราจักไม่ตาย
มารดาบิดาพึงเห็นผู้นั้นมีอายุ 100 ปี ไม่มีโรค

เชิงอรรถ :
1 คันธารมณ์ อารมณ์ที่เกิดแต่กลิ่น รสารมณ์ อารมณ์ที่เกิดแต่รส วัตถุกาม วัตถุที่น่าใคร่ น่าปรารถนา
น่าอยากได้ โดยความได้แก่กามคุณ 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :529 }