เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [15. วีสตินิบาต] 12. ปัญจปัณฑิตชาดก (508)
(ลำดับนั้น พระราชาตรัสตอบพระนางว่า)
[324] ในเพราะปัญหาว่า มโหสธบัณฑิตจะถูกฆ่า
มโหสธผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน ถูกพี่สั่งฆ่า
พี่คิดถึงเรื่องนั้นจึงเสียใจ พระเทวี น้องไม่มีความผิดหรอก
(พระราชาทรงทำเหมือนไม่ทรงทราบอะไร ตรัสถามมโหสธบัณฑิตว่า)
[325] เจ้าไปตั้งแต่พลบค่ำ เพิ่งจะมาเดี๋ยวนี้
เพราะได้ฟังเรื่องอะไรหรือ ใจของเจ้าจึงหวาดระแวง
เชิญเถิด เจ้าผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน ใครได้เรียนอะไรให้เจ้าฟัง
เราขอฟังคำนั้น เจ้าจงเล่าเรื่องนั้นให้เราฟัง
(พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตทูลเตือนพระราชาว่า)
[326] ในปัญหาว่า มโหสธจะถูกฆ่า
ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน ก็เพราะพระองค์เสด็จอยู่ในที่ลับ
ได้ตรัสบอกเรื่องที่พระองค์ทรงปรึกษาแล้วแก่พระเทวีตอนกลางคืน
ความลับนั้นพระเทวีทรงเปิดเผยแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังมา
(พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตกราบทูลความลับของเสนกบัณฑิตก่อนว่า)
[327] ท่านเสนกบัณฑิตได้ทำกรรมชั่ว
เยี่ยงอสัตบุรุษอันใดไว้ที่ป่าไม้รัง
เขาอยู่ในที่ลับแล้วได้บอกแก่เพื่อนคนหนึ่ง
ความลับนั้นท่านเสนกบัณฑิตได้เปิดเผยแล้ว
ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังมา
(พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตกราบทูลความลับของปุกกุสบัณฑิตว่า)
[328] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน โรคอันไม่คู่ควรแก่พระราชา
เกิดขึ้นแล้วแก่ปุกกุสะบุรุษของพระองค์
เขาอยู่ในที่ลับได้บอกแก่พี่น้องชายคนหนึ่ง
ความลับนั้นท่านปุกกุสบุรุษได้เปิดเผยแล้ว
ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :526 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [15. วีสตินิบาต] 12. ปัญจปัณฑิตชาดก (508)
(พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตกราบทูลความลับของกามินทบัณฑิตว่า)
[329] กามินทบัณฑิตผู้นี้มีอาพาธเยี่ยงอสัตบุรุษ ถูกนรเทพเข้าสิง
เขาอยู่ในที่ลับได้บอกแก่บุตรชาย
ความลับนั้นกามินทบัณฑิตได้เปิดเผยแล้ว
ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังมา
(พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตเมื่อจะกราบทูลความลับของเทวินทบัณฑิต จึง
กล่าวคาถานี้ว่า)
[330] ท้าวสักกเทวราชได้ทรงประทานแก้วมณี 8 เหลี่ยม
อันรุ่งเรืองยิ่งนักแด่พระอัยยกาของพระองค์
บัดนี้ แก้วมณีนั้นตกอยู่ในมือของเทวินทบัณฑิต
เขาอยู่ในที่ลับได้บอกแก่มารดา
ความลับนั้นท่านเทวินทบัณฑิตได้เปิดเผยแล้ว
ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังมา
(พระโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาแล้วแสดงธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปว่า)
[331] ธรรมดาความลับปกปิดไว้เท่านั้นเป็นการดี
การเปิดเผยความลับบัณฑิตไม่สรรเสริญ
เพราะเมื่อความปรารถนายังไม่สำเร็จ
นักปราชญ์พึงอดกลั้นไว้ก่อน
ความปรารถนาสำเร็จแล้ว พึงพูดได้ตามสบาย
[332] บัณฑิตไม่พึงเปิดเผยความลับ
พึงรักษาความลับนั้นไว้เหมือนรักษาขุมทรัพย์
เพราะว่าความลับบุคคลรู้อยู่ ไม่เปิดเผยได้เป็นการดี
[333] บัณฑิตไม่ควรบอกความลับแก่สตรี 1 ศัตรู 1
คนที่ใช้อามิสล่อ 1 คนผู้ล้วงความลับ 1

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :527 }