เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [15. วีสตินิบาต] 11. มหาปโลภนชาดก (507)
[305] ฝ่ายพระราชบุตรแสวงหามูลผลาผลในป่าได้เป็นจำนวนมาก
ทรงหาบมาในเวลาใกล้เที่ยงวัน เสด็จเข้าไปยังพระอาศรม
[306] ก็แลฤๅษีพอเห็นขัตติยกุมาร จึงหลบไปยังฝั่งสมุทร
ด้วยดำริว่า เราจักเหาะไป แต่ท่านก็จมลงในห้วงน้ำใหญ่
[307] ฝ่ายขัตติยกุมารทอดพระเนตรเห็นฤๅษีจมอยู่ในห่วงน้ำใหญ่
เพื่อจะทรงช่วยเหลือท่าน จึงได้ตรัสคาถาเหล่านี้ว่า
[308] ตัวท่านเองเดินมาได้บนผิวน้ำไม่แตกแยกด้วยฤทธิ์
ครั้นถึงความคลุกคลีกับหญิงแล้ว จึงจมลงในห้วงน้ำใหญ่
[309] ธรรมดาหญิงทั้งหลายมีความหมุนเวียนเปลี่ยนอยู่เสมอ
มีมายามาก ทำพรหมจรรย์ให้กำเริบ
ย่อมจมลง(ในนรก)
บุคคลรู้ชัดเนื้อความข้อนั้นแล้ว พึงเว้นให้ห่างไกล
[310] หญิงเหล่านั้นพูดจาอ่อนหวาน ไม่รู้จักพอ
ให้เต็มได้ยากเหมือนกับแม่น้ำ ย่อมจมลง(ในนรก)
บุคคลรู้ชัดเนื้อความข้อนั้นแล้ว พึงเว้นให้ห่างไกล
[311] หญิงเหล่านั้นคบหาชายใด
ด้วยความพอใจหรือด้วยทรัพย์ก็ตาม
ย่อมตามเผาผลาญชายนั้นทันที
เหมือนไฟป่าเผาผลาญพื้นที่ของตนเอง
[312] ความเบื่อหน่ายได้มีแก่ฤๅษีเพราะฟังพระดำรัสของขัตติยกุมาร
ฤๅษีนั้นกลับได้ทางที่ได้บรรลุมาก่อน จึงเหาะกลับไป
[313] ฝ่ายขัตติยกุมารผู้ทรงพระปรีชา
ทอดพระเนตรเห็นฤๅษีกำลังเหาะไป
ทรงได้ความสังเวช จึงน้อมพระทัยสู่บรรพชา
[314] ต่อแต่นั้น พระองค์ทรงบรรพชา
สำรอกกามราคะได้แล้ว ทรงเข้าถึงพรหมโลก ดังนี้
มหาปโลภนชาดกที่ 11 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :523 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [15. วีสตินิบาต] 12. ปัญจปัณฑิตชาดก (508)
12. ปัญจปัณฑิตชาดก (508)
ว่าด้วยบัณฑิต 5 คน
(พระราชาทรงรับที่จะทดลองมโหสธบัณฑิต จึงตรัสสั่งว่า)
[315] ท่านบัณฑิตทั้ง 5 มากันพร้อมแล้ว
ปัญหาแจ่มแจ้งแก่เรา ขอพวกท่านจงสดับ
เรื่องที่ควรติเตียนก็ดี เรื่องที่ควรสรรเสริญก็ดี
ซึ่งเป็นความลับของเรา ควรเปิดเผยแก่ใครดี
(เสนกบัณฑิตกราบทูลว่า)
[316] ขอเดชะพระภูมิบาล ขอพระองค์ทรงเปิดเผยก่อน
พระองค์ทรงชุบเลี้ยงข้าพระพุทธเจ้า
ทรงอดกลั้นต่อภาระอันหนัก โปรดแถลงเนื้อความก่อน
ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน นักปราชญ์ทั้ง 5 พิจารณา
สิ่งที่พอพระทัยและสิ่งที่ถูกพระอัธยาศัยของพระองค์แล้ว
จะกราบทูลต่อภายหลัง
(ลำดับนั้น พระราชาตรัสคาถานี้ด้วยความที่พระองค์ทรงตกอยู่ในอำนาจ
กิเลสว่า)
[317] บุคคลควรเปิดเผยเรื่องที่ควรติเตียนก็ดี
เรื่องที่ควรสรรเสริญก็ดี ซึ่งเป็นความลับ
แก่ภรรยาผู้มีศีล ไม่นอกใจสามี
คล้อยตามอำนาจความพอใจของสามี
เป็นที่รักที่โปรดปรานของสามี
(แต่นั้น เสนกบัณฑิตยินดีแล้วเมื่อจะแสดงเหตุที่ตนทำไว้เอง จึงกราบทูลว่า)
[318] บุคคลควรเปิดเผยเรื่องที่ควรติเตียนก็ดี
เรื่องที่ควรสรรเสริญก็ดี ซึ่งเป็นความลับ
แก่เพื่อนผู้เป็นที่พึ่งที่พำนัก
และผู้เป็นทางดำเนินของเพื่อนผู้ตกยากทุรนทุรายได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :524 }